หมวดหมู่นี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่ คนที่เตรียมตัวตั้งครรภ์อยู่ในขณะนี้ คนที่อยากตั้งครรภ์ อยากตั้งท้อง และคนที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งทาง Pstip ได้รวบรวมบทความดี่ๆ เกี่ยวกับ การเตรียมตัวเป็นคุณแม่คนใหม่ การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ และการดูแลร่างกายในขณะตั้งครรภ์ เอาไว้อย่างมากมาย เพื่อคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะได้เข้ามาหาความรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์และสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่เองและลูกน้อยที่น่ารัก

Written by on

5 เรื่องสำคัญที่แม่ลูกอ่อนต้องระวัง

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ป้ายแดงทั้งหลายที่จะต้องเลี้ยงลูกอ่อนตามลำพังนั้นมักจะมีเรื่องให้กังวลใจอยู่ไม่น้อย จนบางครั้งทำอะไรไม่ถูกหรือดูเก้ๆกังๆ ไปหมด เรามาดูกันซิว่าเรื่องกังวลเหล่านั้นมีอะไรบ้างและจะรับมือกับเรื่องเหล่านั้นอย่างไร

1. ตัดเล็บเลือดออก

วิธีรับมือ : ประมาณ 2 อาทิตย์แรก ลูกจะเริ่มมีเล็บยาวขึ้น ก่อนตัดควรใช้โลชั่น หรือนำมือและเท้าไปแช่น้ำเพื่อให้เล็บนิ่มและตัดได้ง่าย การตัดควรเว้นจากเนื้อเล็บสีขาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ใช้กรรไกรสำหรับตัดเล็บทารกโดยเฉพาะ และใช้แอลกอฮอล์เช็ดก่อนทุกครั้ง

2. สิ่งสกปรกเข้าหู

วิธีรับมือ : คุณหมอไม่แนะนำให้แคะหูให้ลูกค่ะ เพราะอาจจะไปคันสิ่งสกปรกเข้าไปข้างใน ซึ่งโดยธรรมชาติสิ่งสกปรกจะออกมาเป็นไขแล้วหลุดลอกออกมาเอง ถ้ายิ่งคันเข้าไปก็ยิ่งจะไปสะสมจนแข็งต้องพาไปพบแพทย์เพื่อดูดออก แต่ถ้ามีเลือดออกควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าแคะไปโดนอะไร ขั้นร้ายแรงที่สุดคือแก้วหูทะลุ จะมีการอักเสบของหูชั้นกลาง มีน้ำหนองอยู่ในหูที่ส่งผลต่อการได้ยิน และการพูดที่อาจไม่ชัดเจน

3. ลูกสำลักนม น้ำ ข้าว หรือสิ่งแปลกปลอม

วิธีรับมือ : เช็กเรื่องการไหลของน้ำนม ถ้าไหลเร็วและมากเกินไป เวลาลูกดูดให้ใช้นิ้วคีบที่หัวนมเอาไว้ และระวังไม่ให้เต้านมไปปิดปากหรือจมูกของลูกด้วยค่ะ ส่วนการป้อนน้ำจากขวดก็ควรตรวจเรื่องความร้อนและการไหลของน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำไหลเร็ว เพราะเด็กอาจกลืนไม่ทันแล้วเกิดอาการสำลักน้ำได้

ข้าวและสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป โดยมากจะพบในกรณีของว่าง เช่น ถั่ว หรือขนมที่เป็นเม็ด ที่เด็กยังเคี้ยวไม่ได้ ทำให้ติดคอหรือเกิดอาการสำลักได้ ควรให้ลูกนอนตะแคงใช้ผ้าอ้อมพันนิ้วหรือลูกสูบยางดูดออกมา ถ้าสำลักขั้นร้ายแรง น้ำหรือนมเข้าปอดแล้วเกิดอาการปอดบวม อาการคือตัวเขียว เหมือนจะหยุดหายใจ ควรรีบเอาลูกสูบยางดูดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลค่ะ

4. น้ำเข้าหูและจมูก ขณะอาบน้ำ

วิธีรับมือ : ให้จับลูกนอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ต้องเขย่าตัว หรือจับหัวคว่ำหรือหงายนะคะ ให้ใช้คอตตอนบัดเช็ดหรือใช้ลูกสูบยางดูดน้ำออกมาจากหูและจมูก โดยธรรมชาติแล้วน้ำจะถูกกำจัดออกไปเอง ยกเว้นในช่วงที่ลูกเป็นหวัดแล้วมีน้ำเข้าหู มีโอกาสที่แก้วหูชั้นกลางอักเสบได้ หรือถ้าเด็กมีแก้วหูทะลุอยู่ และมีน้ำเข้า ก็จะไปเพิ่มการติดเชื้อในหูของเขาได้ค่ะ

5. น้ำร้อนเกินไป

วิธีรับมือ : น้ำร้อนที่จะใช้กับลูกควรมีการตรวจสอบก่อนเสมอ อย่าให้ร้อนจนเกินไป เพราะอาจจะลวกตัวหรือปากของลูกได้ค่ะ

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวกตัว ควรรีบพาลูกขึ้นจากน้ำทันที ใช้ผ้าเช็ดตัวให้แห้งใช้ผ้าอ้อมสะอาดพันหลวม ๆ ไว้ ไม่ต้องใช้น้ำเย็น ขี้ผึ้ง น้ำปลา ยาสีฟันหรือว่าว่านหางจระเข้ทา เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ง่าย ทุกเรื่องมีทางแก้ไขเสมอค่ะ พ่อแม่มือใหม่พลั้งเผลอกันได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือสติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วให้รีบแก้ไขทันที ลูกน้อยจะปลอดภัยและสบายตัวขึ้นค่ะ

อย่าอุ้มลูกแบบเขย่าตัว เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรง ควรอุ้มแบบประคองที่ต้นคอ ไม่ควรโยกหรือให้ลูกนอนในเปล ซึ่งคล้ายการเขย่าตัว เพราะอาจเกิดอันตราย ทำให้เส้นเลือดในส่วนของสมอง ระหว่างตัวเปลือกสมองกับกะโหลกศีรษะที่เรียกว่า Dura มีภาวะเลือดออกทางสมอง มีอาการซึม อาเจียน ภาวการณ์รับรู้สติลดลง ชัก และหมดสติในที่สุด

ท่านอนที่ดีที่สุด คือท่านนอนหงาย ส่วนการนอนตะแคงทางด้านขวาหลังจากดูดนมหรือกินข้าว จะช่วยให้อาหารไหลลงกระเพาะด้านซ้ายได้เร็วขึ้น หากให้ลูกนอนคว่ำอาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค SIDS หรือการนอนแล้วเสียชีวิตโดยไม่รู้สาเหตุได้

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพจาก : khanpak

Written by on

Written by on

คุณแม่ Low fat เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

สมัยนี้ กระแส Low fat มาแรงไม่ว่านมหรืออาหารก็ต้องมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำไว้ก่อนแต่การได้รับคอเลสเตอรอลต่ำเกินไป อาจส่งผลร้ายได้นะคะ

โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ ถ้าคอยระวังรูปร่าง เน้นไขมันต่ำตลอดก็จะเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ เพราะคอเลสเตอรอลมีส่วนช่วยสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ ฮอร์โมน โปรตีน ฉะนั้นหากคุณแม่ได้รับคอเลสเตอรอลน้อยเกินไป ลูกก็จะไม่สามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และคลอดออกมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเด็กปกติทั่วไป

ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ อย่าห่วงสวยจนลืมห่วงลูกน้อยในครรภ์นะคะ ดูแลสุขภาพระมัดระวังเรื่องคอเลสเตอรอลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ให้พอดีอย่ามากจนเกิดผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์นะคะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพจาก : truelife

Written by on

Written by on

แสนล้านเซลล์สมองของลูกน้อย

เริ่มจากวินาทีแรกที่คุณแม่รู้ตัวว่ากำลังจะมีชีวิตน้อยๆ เกิดขึ้นในครรภ์ คุณแม่คือคนสำคัญที่สุดที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นอัจฉริยะให้ลูกได้ เพราะช่วง 1,365 วันแรกเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตสูงสุดถึง 80% ของสมองผู้ใหญ่ และเซลล์สมองจะพัฒนาโดยการเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นเครือข่ายใยประสาทนับเป็นล้านๆ เครือข่าย จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการ และต่อยอดการเรียนรู้

คุณแม่ควรเริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองโดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน และส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูก เช่น

• ดีเอชเอ จากปลาทะเลหรือผลิตภัณฑ์นมเพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร มี ดีเอชเอ 33 มก./แก้ว เพราะดีเอชเอมีบทบาทสำคัญช่วยเชื่อมต่อเซลล์สมองเพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการสมบูรณ์รอบด้าน

• โคลีน สารอาหารสำคัญช่วยสร้างอะซิโคลีน ที่เป็นส่วนประกอบของสารสื่อสัญญาณประสาท คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับ 450 มก./วัน และคุณแม่ให้นมบุตร ควรได้รับ 550 มก./วัน

• โฟเลต เป็นสารอาหารหลักในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก

• แคลเซียม เป็นสารช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟันของลูกน้อยให้แข็งแรง ซึ่งคุณแม่ควร ได้รับอย่างน้อย 1,200 มก./วัน

ปริมาณ ดีเอชเอที่เหมาะสมช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้เพราะ ดีเอชเอ เป็นสารอาหารสำคัญต่อสมองและจอประสาทตา จึงควรให้ลูกน้อยได้รับดีเอชเอ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนหลังคลอด และต่อเนื่องไปตลอดช่วง 1,365 วัน เพื่อให้ลูกน้อยพัฒนาสมอง.....พร้อมต่อยอดการเรียนรู้..สู่ความเป็นอัจฉริยะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : sanook

Written by on

Written by on

มหัศจรรย์ 5 ประการเมื่อแม่ตั้งครรภ์

ผู้หญิงเรา เมื่อคิดหรือตั้งใจว่าจะเป็นคุณแม่แล้ว จะพยายามเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อจะทำหน้าที่ดูแลลูกน้อยให้ดีที่สุด แต่คุณแม่ทราบมั้ยคะว่า ร่างกายของคุณแม่ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมมากเพื่อเตรียมตัวต้อนรับลูกน้อยในท้องและปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์อีกด้วย ร่างกายคุณแม่นั้น ได้เตรียมความพร้อมอย่างน่าทึ่ง ในเรื่อง

1.กักตุนอาหาร หลังจากทารกปฏิสนธิแล้ว ร่างกายแม่ตั้งครรภ์เริ่มงานทันที โดยที่คุณแม่ไม่ต้องสั่งการหรืออาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปยามนี้ร่างกายของคุณแม่จะพยายามสะสมอาหารไว้มากๆ เพื่อให้พอสำหรับเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กที่เพิ่มขึ้นมาอีกคน คุณแม่จะเพลิดเพลินกับการกิน น้ำหนักเพิ่ม รู้สึกว่าอ้วนจนใครๆ ทัก

2.จัดห้องรับรอง เนื่องจากแขกที่จะมาพักผ่อนนอนเล่นในครรภ์นาน 9 เดือน เป็นคนสำคัญมากๆ ต้องให้การทะนุถนอม ดูแลความปลอดภัย และแข็งแรง เพราะฉะนั้นมดลูก ซึ่งเปรียบเสมือนห้องสวีทของทารกจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยมีน้ำหนักราว 50 กรัมจะขยายใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของลูกและขยายใหญ่ได้ถึง 1000 กรัมเมื่อถึงระยะใกล้คลอดเยื่อบุโพรงมดลูกก็หนาขึ้นหลายเท่า เพื่อให้ความปลอดภัยกับทารก เจ้าตัวน้อยยังได้รับการปกป้องจากอันตรายภายนอกอีกชั้นหนึ่ง ด้วยการนอนลอยตัวอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ

3.เพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงอาหาร ระบบการไหลเวียนภายในร่างกายที่เคยขนส่งอาหาร และออกซิเจนไปตามเส้นเลือดตามปกติ เวลานี้จุดศูนย์กลางความสำคัญมาอยู่ที่ทารกในครรภ์ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนร่างกายเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้นเพื่อให้ทารกได้รับทั้งอาหารและออกซิเจนเต็มที่ และเมื่อมีของเสียก็จัดการขับถ่ายออกไปได้สะดวก

4.ปรับข้อต่อและเส้นรับน้ำหนักและเตรียมคลอด ข้อต่อและเส้นเอ็นของคุณแม่จะยืดหยุ่นขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะคุณแม่จะต้องแบกรับน้ำหนักทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ในระยะใกล้คลอดราวๆ 10-12 กิโลกรัม ข้อต่อและเส้นเอ็นต่างๆ ยืดหยุ่นกว่าเดิม เพื่อให้คุณแม่รับน้ำหนักได้ดีขึ้น ที่คุณแม่ยืนในท่าแอ่นหลังเพราะการพยุงน้ำหนักท้องนั่นเอง และเมื่อใกล้คลอดข้อต่อบริเวณเชิงกรานจะปรับตัวให้หลวมเพื่อจะได้คลอดง่าย นอกจากข้อต่อกับเส้นเอ็นแล้ว มดลูกยังฝึกบีบรัดตัวให้หลวมเพื่อจะไค้คลอดง่าย นอกจากข้อต่อกับเส้นเอ็น

5.เตรียมผลิตน้ำนม อาหารที่วิเศษที่สุดสำหรับทารกนั้นก็คือนมแม่ เพราะฉะนั้นร่างกายของคุณแม่จะเริ่มสร้างต่อมน้ำนมเพื่อผลิตน้ำนม ไว้สำหรับลูกน้อยที่กำลังจะคลอดออกมา

เห็นมั้ยค่ะว่าร่างกายของคุณแม่นั้นมหัศจรรย์มากเพียงใด เพราะฉะนั้นลูกๆ ทุกคนควรตระหนักและรักคุณแม่ให้มากๆ นะคะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : pregnancysquare

Written by on

Written by on

คุณแม่ครรภ์เป็นพิษดูแลตัวเอง

ครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคซึ่งประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อาการบวมและการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยอาการมักจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์หรือเกิดขึ้นทันทีหลังคลอด

อาการของครรภ์เป็นพิษ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าไว้วางใจสักเท่าไหร่ ฉะนั้นการที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะคอยสังเกตอาการว่าตนเองมีสัญญาณบอกว่าจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยละเลยนะคะ

ระยะแสดงอาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ทันที

*ปวดศีรษะรุนแรง และมีอาการตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงเป็นจุดๆ หรือเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย

*จุกแน่นลิ้นปี่

*คลื่นไส้ อาเจียน แม้ว่าจะเป็นอาการแพ้ท้องโดยทั่วไปก็ตาม

*มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า

* น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไปอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์ทันที เพื่อคุณหมอจะได้ดูแล ให้คำแนะนำตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จะได้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ นะคะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : thaiza

Written by on

Written by on

เทคนิคนับลูกดิ้น

คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงการดิ้นครั้งแรกของลูกน้อยในครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ ในขณะที่คุณแม่ท้องหลังจะรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยเร็วกว่า คือในช่วง 16-18 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะรับรู้การดิ้นของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ

แล้วเราจะนับลูกดิ้นอย่างไรว่าเป็นปกติ คุณแม่ควรปัสสาวะก่อนนับลูกดิ้น อาจจะอยู่ท่านั่ง นอนเอนหลังอย่างผ่อนคลาย ใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสที่หน้าท้องเพื่อรับรู้ความรู้สึก และทำการบันทึกจำนวนครั้งของการดิ้นได้เลยค่ะ

เทคนิคที่ 1 Count to 10 เริ่มนับตั้งแต่เช้า โดย บันทึกระยะเวลาเริ่มต้นจนดิ้นครบ 10 ครั้ง หากลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง หรือดิ้นครบ 10 ครั้ง ใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง ขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินสุขภาพลูกรักในครรภ์เพิ่มเติม

เทคนิคที่2 Sadovsky Technique นับลูกดิ้น หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีก 1 ชั่วโมง หากยังน้อยกว่า 3 ครั้ง ให้พบแพทย์

การที่ลูกรักดิ้นน้อยลงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยลง และเป็นการคัดกรองเพียงวิธีเดียวที่คุณแม่สามารถช่วยหมอในการประเมินสุขภาพของลูกได้ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่เพียงรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ควรมาพบแพทย์ทันที อย่านิ่งนอนใจ สัญชาติญาณของความเป็นแม่มักจะบอกได้ โดยบางครั้งไม่ต้องนับลูกดิ้นตามตำราเลยค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : tinyzone

Written by on

Written by on

10 เรื่องควรรู้ก่อนเป็นคุณแม่

การเป็นคุณแม่ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผู้หญิงอย่างเราๆ เพราะการที่มีอีกหนึ่งชีวิตมาอยู่ในร่างกาย และเมื่อคลอดลูกน้อยออกมาแล้วนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงนี่ทำไม่ได้เลย วันนี้เราเลยมี 10 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเป็นคุณแม่มาฝากกันค่ะ

1.ความอดทน อดทนกับ 9 เดือนที่ท้องเพราะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ต้องอดทนกับความเจ็บตอนคลอดและหลังจากคลอดลูกแล้ว ต้องอดทนกับความเหนื่อยในการเลี้ยงลูก แม่ต้องมีความอดทนสูงมากกว่าจะผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาได้

2.เข้าใจคำว่าเหนื่อยและเจ็บสุดๆ เราจะไม่เคยรู้จักคำว่าเหนื่อยกับเจ็บสุดๆ ถ้าไม่ได้เป็นแม่ ยอมรับว่าชีวิตไม่เคยเหนื่อยดูแลคนอื่นขนาดนี้ แต่เมื่อมีลูกเรายอมที่จะทุ่มเทชีวิตเพื่อลูกน้อย เจ็บคือตอนคลอดลูกเป็นความเจ็บที่หาอะไรมาบรรยายไม่ได้

3.รู้จักเสียสละ จากที่เคยคิดจะทำอะไรก็ได้กลายเป็นทำอะไรก็ต้องคิดถึงลูกก่อน คนเป็นแม่ยอมเสียสละเรื่องส่วนตัวเพื่อที่จะให้ลูกมีความสุข แต่ไม่ใช่ว่าเพราะมีลูกแล้วทำอะไรส่วนตัวไม่ได้ แต่มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติที่อยากทำทุกอย่างให้ลูก

4.ฝึกความใจเย็น การมีลูกเป็นการฝึกสมาธิทำให้เราเป็นคนใจร้อนทำอะไรเร็ว แต่ตอนนี้ยังไงก็นึกถึงลูกก่อน ช้าลงเพื่อความสุขปลอดภัยของลูก ต้องคอยเตือนตัวเองให้ใจเย็นเป็นการฝึกตัวเองที่ดีมาก

5.มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน คนชอบถามว่าโตขึ้นอยากให้ลูกทำอะไร เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย เราอยู่กับปัจจุบัน แค่ชั่วโมงนี้ ได้อ่านนิทานให้ลูกฟังก็ขอทำให้ดีที่สุด เวลาอยู่กับลูกก็จะให้เวลากับเขาจริงๆ มองหน้า ยิ้ม ตามองตา เขาจะได้สัมผัสว่าแม่อยู่ตรงนี้

6.คุณแม่นักวิชาการอึ ไม่เคยรู้ว่าเราจะต้องมาใจจดใจจ่อกับอึ มันเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นแม่ต้องจ้องทุกวัน บางทีก็ต้องเขี่ยๆ จิ้มมาดม ทำไมวันนี้มันเป็นสีนี้ ทำไมเป็นแบบนี้ คือวันๆ โฟกัสอยู่กับอึ เพราะอึเป็นสิ่งที่บอกถึงสุขภาพลูก แม่เลยต้องมานั่งจับจ้องในสิ่งชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาให้ความสนใจกับอึใคร

7.นมแม่มหัศจรรย์ เป็นเรื่องของนมของเรา ที่เมื่อก่อนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่พอมีลูกปุ๊บมันกลายเป็นสาธารณะมากเลย พร้อมให้นมลูกเสมอ เพราะนมคืออาหารของลูก ยิ่งเวลาอยู่บ้านก็จะแบบว่าโทงเทงๆ ไม่ได้ห่วงอะไรมาก ผู้หญิงเราสามารถให้นมลูกได้นานเกือบ 2 ปี เพราะนมแม่เป็นอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับลูกที่ดึงไปจากตัวเรา

8.อินกับนิทานเด็ก ถ้าไม่ได้เป็นแม่จะไม่รู้ว่านิทานเด็กน่ารักน่าสนใจขนาดไหน เมื่อก่อนอ่านหนังสือก็จะเอ๊ะ ทำไมมันมีอะไรที่น่าตื่นเต้นเนี่ยบางเล่มมีแค่ภาพสองภาพแล้วก็มีคำ 2 คำ แต่พอเป็นแม่ ได้มาอ่านให้ลูกฟัง เราจะรู้เลยว่าคำหนึ่งคำมันมีความหมายมากแม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ สอนอะไรเด็กได้เยอะ

9.หลงรักกลิ่นลูก กลิ่นของลูกเป็นกลิ่นที่ไม่มีอะไรมาแทนได้ เป็นกลิ่นที่หอมมาก ขอให้ได้อยู่ใกล้ๆ ได้สูดกลิ่นทั้งวัน ก็มีความสุขที่สุด ถ้าไม่ได้เป็นแม่เราคงไม่ได้กลิ่นเด็ก กลิ่นเด็กคนอื่นก็หอมนะ แต่ของลูกเรามันจะเหมือนมีเส้นใยที่เรามองไม่เห็นที่ได้สูดกลิ่นลูกแล้วมันชื่นใจมีพลัง

10.สุขกับรักที่แท้จริง ทุกคนมีความรัก เรามีความรักให้คุณพ่อคุณแม่ ให้คนรัก แต่กับลูกเป็นความรักที่ไม่สามารถสัมผัสได้ถ้าเราไม่ได้เป็นแม่ เป็นรักที่สามารถทำให้เขาได้ทุกอย่างแม้แต่ชีวิตก็ให้ได้ อันนี้ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยแม้แต่รู้สึก แต่กับลูกของเรายอมตายแทนจริงๆ

ความเป็นแม่ ทำให้ผู้หญิงเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างโดยคิดไม่ถึง ด้วยสัญชาตญานของความเป็นแม่ ความสามารถของผู้หญิงเพศแม่ไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอกเลยทีเดียวค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : tinyzone

Written by on