รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พันธุ์ปลา ลักษณะของปลาแต่ละสายพันธุ์ รวมสายพันธุ์ปลาไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงาม หรือปลาเศรษฐกิจ สายพันธุ์ปลาทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป เพื่อคุณผู้อ่านจะได้รู้ถึงมาตรฐานสายพันธุ์ของปลา แต่ละสายพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร จะได้เลือกมาเลี้ยงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการ หรือสำหรับคนที่เลี้ยงอยู่แล้วก็จะได้เลี้ยงอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขที่สุดทั้งคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยงค่ะ

Written by on

ปลากระดี่นาง

ชื่อสามัญ ปลากระดี่นาง Moonlight gourami

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากระดี่นาง Trichogaster microlepis (Günther, 1861)

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่นาง

ปลากระดี่นางเป็นปลาน้ำจืดซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับปลาสลิด กระดี่หม้อ กระดี่มุก และอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาหมอไทย กระดี่นางมีสีขาวนวล ไม่มีจุดดำ ลำตัวบาง เกล็ดบาง เกล็ดเล็กละเอียด ขอบเกล็ดเป็นจักรเช่นเดียวกับเกล็ดปลาหมอ มีเส้นก้านครีบเป็นรยางค์ยาวอยู่ใต้ท้อง 1 คู่ ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลากระดี่นางมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ เช่นเดียวกัน ในสภาพที่น้ำไม่ดีนัก กระดี่นางก็จะโผล่ริมฝีปากขึ้นมาฮุบเอาอากาศหายใจได้ อาหารเป็นพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนของแมลง ไรแดง ปลาเพศผู้มีสีแสดบริเวณท้อง กล่าวกันว่า ปลากระดี่ใช้รยางค์คู่นี้เป็นเครื่องรับความรู้สึก มีนิสัยสงบ เลี้ยงรวมกับปลาอื่นได้ดี แต่ในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้มีนิสัยกีดกันปลาอื่น ปลากระดี่ขนาดลำตัวโตกว่ากระดี่หม้อเล็กน้อย ชาวต่างประเทศเรียกว่า "มูนบีน หรือมูนไลท์" ซึ่งตรงกับคำว่าปลากระดี่แสงจันทร์

การแพร่กระจาย

ปลากระดี่นางมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ และมีถิ่นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับปลากระดี่หม้อ คือ พบตามแหล่งน้ำหนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในทุกภาคของประเทศ ต่างประเทศ มีในแถบอินโดจีน

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง

ในฤดูผสมพันธุ์ ปลากระดี่นางเพศผู้นอกจากสังเกตจากครีบหลังเช่นกระดี่หม้อแล้ว ขอบครีบก้นของปลาตัวผู้ขึ้นสีเป็นสีส้ม การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง สามารถทำการเพาะโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ หรือ การเพาะแบบวิธีกึ่งธรรมชาติ การเพาะโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติโดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความพร้อม โดยปลาเพศเมีย ควรมีช่วงท้องขยายใหญ่ขึ้น และนิ่ม ในเพศผู้สังเกตสีของขอบครีบก้นของปลาตัวผู้จะขึ้นสีเป็นสีส้ม นำมาปล่อยในบ่อเพาะไว้รวมกันใส่พรรณไม้น้ำประมาณ 1 ใน 4 บ่อ ทำการถ่ายน้ำทุก 2-3 วัน หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน ตัวผู้เริ่มก่อหวด ส่วนการเพาะด้วยวิธีกึ่งธรรมชาติ โดยการฉีดฮอร์โมนให้กับแม่ และปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองแบบธรรมชาติ อัตราความเข้มข้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ในการฉีดครั้งที่ 1 ฉีดแม่ในความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งระยะห่าง 6 ชั่วโมง ทำการฉีดฮอร์โมนในครั้งที่ 2 ในอัตราความเข้มข้น 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อเพาะ ที่มีพรรณไม้น้ำอยู่ด้วย พบว่าแม่ปลาสามารถวางไข่ได้ หลังจากการฉีดครั้งที่ 2 ประมาณ 45-50 ชั่วโมง ไข่ปลาใช้เวลาในการฟักประมาณ 18 ชั่วโมง ซึ่งการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนควรใช้โรติเฟอร์ และไข่แดงต้มสุกบดละเอียดให้กินเป็นอาหาร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากัด

ชื่อสามัญ ปลากัด Siamese fighting fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากัด Betta splendens Regan, 1910

ลักษณะทั่วไปของปลากัด

ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่นและเพื่อเกมส์กีฬากัดปลา ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยง และเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มหัดเลี้ยงปลา เนื่องจากไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เพราะปลากัดเป็นปลามีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษเรียกว่า "labyrinth" ทำให้สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้ ปลากัดมีอายุเฉลี่ย 2 ปี หรือน้อยกว่า

ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว ครีบ และหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบ และหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะ และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ได้ปลากัดมีสีสวยงามหลากหลาย อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก จากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้อีกหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น

ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเรียกกันว่า "กัดป่าหรือกัดทุ่ง" โดยมีลำตัวค่อนข้างเล็ก บอบบาง สีน้ำตาลขุ่นหรือเทาเขียว มีการนำมาเพาะเลี้ยง และคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่มีรูปร่างแข็งแรงลำตัวหนา และใหญ่ขึ้น เพื่อใช้ในการกีฬากัดปลาซึ่งนิยมเรียกปลากัดชนิดนี้ว่า "กัดเก่ง" นอกจากนั้นปลากัดไทยนี้ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้มีสีสันสวยสด มีผู้เลี้ยงปลากัดหลายรายได้มีการพัฒนาปลากัดที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ และผสมข้ามพันธุ์ปลากัด โดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย นิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่า ปลากัดจีนหรือเป็นปลากัดเขมร ซึ่งต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม "Siamese fighting fish"

ในปัจจุบันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ ปลากัดไทยมีสีสรรสวยงามมากตั้งแต่ สีเหลืองทั้งลำตัว สีฟ้า half moon มีเรื่องอ้างอิงกันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ โดยมีความเชื่อว่า ปลาที่มีสีสันสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมียไปยังลูกปลา ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลายโดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสันตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาตัวเมียในระหว่างการทำการเทียบคู่นั้นวิธีการนี้เรียกว่า "pseudo breeding technique" ถึงแม้ว่าไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการแต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า ในคอกหนึ่งๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นมีประมาณ 1 - 2 ตัว ที่มีลักษณะเหมือนกับภาพ

สีสันของปลากัดสามารถจำแนกเพื่อที่จะใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ ได้ดังนี้

  1. สีเดียว (solid colored betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
  2. สีผสม (bi-colored betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
  3. สีผสมเขมร (cambodia colored betta)
  4. ลายผีเสื้อ (butterfly colored betta)
  5. ลายผีเสื้อเขมร (cambodian butterfly colored betta)
  6. ลายหินอ่อน (marble colored betta)

รูปแบบของปลากัดไทยมีการแบ่งออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าเมื่อมองจากด้านบน รูปร่างเพรียว
  2. รูปแบบปลาหมอ ลำตัวสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
  3. รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปสีเหลี่ยม เมื่อมองด้านบนเห็นลักษณะรูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบหางยาว
  4. รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม

การแพร่กระจาย

การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปในน้ำนิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง นอกจากนั้นพบในนาข้าว โดยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด

เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวชอบต่อสู้เมื่อมีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัว ก่อนที่มีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงปลากัด ได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบบบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศ สังเกตได้ว่าปลาเพศผู้มีลำตัวสีเข้ม และครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจน และขนาดมักโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียมีสีซีดจาง มีลายพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้

น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 ความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรใส่น้ำปริมาณ 3ใน4 ของปริมาตรขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสผิวน้ำ นอกจากนั้นสถานที่ใช้เลี้ยงปลากัดไม่ควรเป็นที่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะทำให้ปลากัดตายได้ในกรณีที่โดนความร้อนมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส

อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินอาหารมีชีวิต เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (artemia) อาหารที่มีชีวิตที่ใช้เลี้ยงควรล้างด้วยน้ำสะอาด ฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารในด่างทับทิมระดับความเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน ( 0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที หลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

อาหารของปลากัดนอกจากใช้อาหารมีชีวิตแล้ว ยังสามารถฝึกหัดให้ปลากัดกินอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย โดยค่อย ๆ ฝึกเปลี่ยนนิสัยในการกินอาหาร การให้อาหารควรให้วันละ 1-2 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดี การให้อาหารที่มากเกินไป อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องน้ำให้มาก ข้อสังเกตการกินอาหาร โดยปกติปลากัดกินอาหารประมาณ 5 นาที ในกรณีที่แยกขวดเลี้ยงปลากัดขวดละตัว การให้อาหารนิยมใช้ลูกยางสีแดงที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปดูดอาหาร และใส่ที่ละขวด ซึ่งทำให้สะดวกยิ่งขึ้น การถ่ายเทน้ำควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

การเพาะพันธุ์ปลากัด

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ปลากัดอยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม - กันยายน แต่ในปัจจุบันสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 26-28 ๐C ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป ปลาเพศผู้ที่มีอายุ 5-6 เดือน ในขณะที่ปลาเพศเมียเป็นปลาที่มีอายุ 4 เดือน ปลากัดเพศเมียสามารถวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สังเกตเห็นความสมบูรณ์ของพ่อแม่ปลาได้ชัดเจน การคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ ควรมีหลักปฏิบัติดังนี้

ปลาเพศผู้ ควรคัดเลือกปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวยตามที่ต้องการ ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า "หวอด" โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปาก และลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่า ปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่ผสมพันธุ์

ปลาเพศเมีย โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก มีสีเทา และมีลายตามแนวราบ มีครีบสั้น ควรคัดเลือกแม่ปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่ง และบริเวณใต้ท้องมีสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจนแสดงว่าพร้อมที่ผสมพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งตุ่มสีขาวนั้นเรียกกันว่า
"ไข่นำ"

การผสมพันธุ์ การผสมพันธ์ปลากัดทำโดยการนำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียมาวางติดกัน ซึ่งเรียกว่า "เทียบคู่" บริเวณที่มีการเทียบคู่ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้แม่ปลาตกใจ การเทียบคู่ใช้เวลาประมาณ 3-10 วัน สังเกตปลาตัวเมียมีลักษณะท้องโต และมีจุดขาวที่ท่อนำไข่ชัดเจน ลำตัวมีสีลายอ่อน สลับเข้ม เรียกว่าลายชะโด ซึ่งแสดงว่าปลากัดตัวเมียพร้อมที่ผสมพันธุ์แล้วขณะเดียวกันตัวผู้สร้างหวอดขึ้นบริเวณเหนือน้ำ จากนั้นนำปลาเพศผู้ และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว จนถึงอ่างดิน ใส่น้ำให้มีระดับ 5-10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ปลาเพศผู้เหนื่อยมากเกินไปในขณะที่ลำเลียงไข่ของตัวเมียไปไว้ที่รัง ควรใส่พรรณไม้น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิม เพื่เป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไข่ พรรณไม้ที่นิยมใช้ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชะวา เป็นต้น เมื่อปลาเพศผู้และเพศเมียสามารถปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมในภาชนะประมาณ 1-2 วัน ปลาเพศผู้จึงเริ่มก่อหวอดติดกับพรรณไม้น้ำ หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้พองตัวกางครีบและไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้ทำการรัดตัวเมียตรงบริเวณช่องอวัยวะเพศ จากนั้นไข่ก็หลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้ตามลงไปใช้ปากดูดอมไข่ไว้ แล้วว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าไข่หมด เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้ทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก ขั้นตอนนี้ต้องระวังการกระแทกเพราะทำให้รังไข่ได้รับความเสียหาย

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลากัดฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกมีถุงอาหาร (yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรก จึงยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมด ควรให้ไข่แดงต้มสุกกรองผ่านกระชอนตาถี่เป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (moina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงตัวเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ ประมาณ 5 สัปดาห์ ลูกปลาบางตัวเห็นสี ช่วงนี้อาจเร่งการเจริญเติบโตโดยการเพิ่มอาหารทีละน้อยโดยให้ 3-4 ครั้งต่อวัน ช่วงนี้ลูกปลากินอาหารได้หลายชนิด เช่น หนอนแดง อาหารแผ่นบาง เคยบด ตับไก่สดแช่แข็งหั่นเป็นชิ้นเสียบไม้ใส่ไว้ในบ่อ ปลามาตอดกินได้อีกทั้งยังเป็นการช่วยเร่งสีเนื่องจากมีธาตุเหล็กให้แก่ปลาอีกด้วย และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้ เมื่อปลามีอายุประมาณ 1.5 เดือนขึ้นไป

เนื่องจากการเลี้ยงปลากัดเป็นการเลี้ยงที่นิยมกันมานานมาก การดูแลรักษาปลา จึงเป็นแบบพื้นบ้านส่วนใหญ่ มีการหมักปลาโดยใช้ใบหูกวางแห้ง ใบมะพร้าวแห้ง หรือใบตองแห้ง เพื่อใช้ในการรักษาเมื่อเห็นว่าปลาเริ่มแสดงอาการผิด มีเกษตรกรบางรายไม่เคยประสบปัญหาโรคเลย ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง เพราะใส่ใบไม้เหล่านี้ที่พื้นดินก้นบ่อด้วย ในบางครั้งพบว่าตัวมีจุดสีขาวที่รู้จักกันว่าเป็นโรคจุดขาวหรืออิ๊ค ก็ใส่ข่าหมักลงไปในขวดปลานั้น โรคดังกล่าวก็หายไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาทรงเครื่อง

ชื่อสามัญ ปลาทรงเครื่อง Redtail sharkminnow

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทรงเครื่อง Epalzeorhynchos bicolor (Smith, 1931)

ลักษณะทั่วไปของปลาทรงเครื่อง

ลักษณะของปลาทรงเครื่องจะมีลำตัวยาวเรียว จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาค่อนข้างโต ว่ายน้ำปราดเปรียว ลำตัวแบนข้าง มีสีดำหรือน้ำเงินเข้มปนดำ ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบสูง และมีขนาดใหญ่สะดุดตา ครีบหางมีขนาดใหญ่ และเว้าลึกเป็นแฉกสีแดง หรือแดงอมส้ม และครีบอื่น ๆ มีสีเทาจาง ปลาทรงเครื่องมีหนวดสั้น ๆ 2 คู่ ปากมีขนาดเล็ก ริมฝีปากบนงุ้ม ยาวกว่าริมฝีปากล่าง ปากอยู่ในระดับขนานกับพื้นท้องน้ำ ขอบของริมฝีปากบนมีลีกษณะเป็นขอบครุย บริเวณข้างลำตัวมองเห็นจุดสีดำอยู่ข้างละ 1จุด อยู่เหนือครีบอก มีความยาวประมาณ 9-10 ซม. ตัวใหญ่มาก ๆ ที่พบมีขนาดประมาณ 12 ซม. ในวงการปลาสวยงามเรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลาฉลามหางแดง เพราะมีหุ่นเพรียวเป็นปลาที่ปราดเปรียว และว่องไว คล้ายฉลาม ปลาทรงเครื่องเป็นปลาปากคว่ำ ชอบซอนไซ้หากินตามพื้นตู้ ก้นบ่อ และชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ กินอาหารพวกสาหร่าย ตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหิน

การแพร่กระจาย ปลาทรงเครื่อง

ปลาทรงเครื่อง ตามประวัติพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พบในลุ่มน้ำแม่กลองที่กาญจนบุรี เจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด และบางปะกง เคยเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จัดให้อยู่ในสถานภาพของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากดเหลือง

ชื่อสามัญ ปลากดเหลือง Yellow mystus

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากดเหลือง Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840)

ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลาดมีความต้องการมาก และราคาดี เนื่องจากมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปปลาสด และการแปรรูปเป็นปลารมควัน หรือปลาแห้ง ราคาซื้อปลาสด กิโลกรัมละ 30-40 บาท ส่วนปลารมควัน กิโลกรัมละ 80-100 บาท ปลากดเหลืองพบอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับประเทศไทยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา การจับปลากดเหลืองได้โดยการใช้ ข่าย อวนล้อม แห หรือเบ็ดราว พื้นที่จับคือบริเวณใต้เขื่อนเจ้าพระยาที่พื้นท้องน้ำที่เป็นแก่งหินหรือเป็นพื้นแข็ง ซึ่งปริมาณปลากดเหลืองที่จับได้ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยลง สถานีประมงน้ำจืดชัยนาทจึงพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเป็นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากดเหลืองให้แพร่ขยายออกไปสู่เกษตรกรต่อไป

ลักษณะทั่วไปของปลากดเหลือง

ปลากดเหลืองเป็นปลาไม่มีเกล็ด มีรูปร่างเรียวยาวแบบอีลองเกท (elongate) หัวค่อนข้างแบน กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม ปากกว้าง ตำแหน่งของปากตั้งอยู่ต่ำเล็กน้อย (subterminal) ขากรรไกรแข็งแรง มีฟันเป็นแบบคาร์ดิฟอร์ม (cardiform) คือเป็นฟันซี่เล็ก ๆ สั้น ปลายแหลม ซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม จำนวน 15 ซี่ มีหนวด 4 คู่ ความยาวตลอดทั้งตัว (total length) เป็นสามเท่าครึ่งของความยาวส่วนหัว ความยาวมาตรฐานลำตัว (standard length) เป็นสามเท่าครึ่งของความกว้างลำตัว ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดียวอยู่กลางหลัง มีก้านครีบหลังแข็ง 1 ก้าน และก้านครีบอ่อน 7 ก้าน โดยก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยอยู่ทางด้านหลัง ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนด้านหลังของส่วนท้ายของลำตัวตรงข้ามกับครีบก้น ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคม 1 คู่ มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน ครีบหางเว้าลึก แฉกบนยาวกว่าแฉกล่าง ลักษณะกระเพาะลมมีตอนเดียว ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ตอนหน้าป้าน และค่อย ๆ เรียวไปทางตอนท้ายซึ่งค่อนข้างแหลม ส่วนกว้างเท่ากับส่วนยาว ตอนหน้าติดอยู่กับทรานเวิร์สโพรเซสของกระดูกสันหลังข้อต้น ๆ ซึ่งสามารถขยายใหญ่เป็นแผ่นกระดูกอ่อนบาง ๆ ใส ตอนหน้าของกระเพาะลมแตะอยู่กับกระดูกก้านครีบคู่หู ส่วนบนติดกับกระดูกสันหลัง กระเพาะลมของปลาชนิดนี้ไม่มีกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดเสียง ผนังกระเพาะลมค่อนข้างแข็งแรง กรอบโปร่งใสเห็นผนังกั้นที่อยู่ภายในได้ชัดเจนมีท่อนูเมติกเชื่อมระหว่างกระเพาะลมกับกระเพาะอาหาร กระเพาะลมมีหน้าที่ช่วยให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำระดับต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ

รายงานการศึกษากระเพาะอาหารของปลากดเหลืองจำนวน 114 ตัว ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดยาว 18.4 - 45.0 เซนติเมตร พบว่า กระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นถุงตรงยาว ผนังหนามีสีขุ่น เป็นปลาที่มีนิสัยชอบกินเนื้อเป็นอาหาร คือในกระเพาะจะมีปลาอยู่ 66.77% กุ้งน้ำจืด 2.70% เศษพันธุ์ไม้น้ำ 0.36% และก้อนกรวดดินโคลน 10.05% อาหารจำพวกเนื้อปลาที่พบในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กได้แก่ ปลาซิวและปลาข้าวเม่า

การแพร่กระจาย

ปลากดเหลืองพบได้ในประเทศแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย สำหรับประเทศไทย ปลากดเหลืองมีแหล่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และสาขาแม่น้ำบางประกง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำจันทบุรี ตลอดจนถึงบริเวณน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อของปลาชนิดนี้เรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น ปลากด เหลือง ปลากดนา ปลากดขาว ปลากลาง ปลากดฉลอง

การเพาะพันธุ์ปลากดเหลือง

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลากดเหลืองมีฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปลาที่ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ควรมีขนาด 200 กรัมขึ้นไป โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ ปลาเพศเมีย ส่วนท้องขยายใหญ่ ช่องเพศกลมรี สีแดง ปลาเพศผู้ ส่วนตัวยาวเรียว มีติ่งยื่นออกมาเป็นอวัยวะเพศ ลักษณะยาวแหลม

การเพาะพันธุ์ เมื่อคัดพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว นำมาขังแยกเพศผู้และเพศเมียไว้ในกระชัง ฉีดฮอร์โมนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ busereline acetate ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone ในอัตราดังนี้

เพศเมีย (ฉีด 2 ครั้ง) 5 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม และ 20 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

เพศผู้ (ฉีด 1 ครั้ง) 10 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

หลังจากฉีดฮอร์โมนทั้งเพศผู้ และเพศเมีย แล้วนำมาปล่อยรวมกันในบ่อผสมพันธุ์โดยใช้บ่อซีเมนต์ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ที่พื้นบ่อปูด้วยตาข่ายถี่ (100 ช่องต่อ 1 ตารางเซนติเมตร) เพื่อให้ไข่ติดตาข่าย

หลังจากฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 2 ประมาณ 4 ชั่วโมง ปลาเพศผู้รัดตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ แม่ปลา 1 ตัว ปล่อยไข่ออกมา 3-4 ครั้ง ใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว นำตาข่ายปูพื้นที่มีไข่ติดอยู่ไปพักในกระชังไข่อีกครั้งหนึ่ง

การฟักไข่ นำไข่ที่ติดตาข่ายไปฟักในกระขังฟักไข่ ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ลึก 60 เซนติเมตร อุณหภูมิน้ำ 27-28 องศาเซลเซียส ไข่ฟักเป็นตัวในเวลา 22 ชั่วโมง เมื่อไข่ฟักหมดแล้ว รวบรวมลูกปลาวัยอ่อนนำไปอนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาวัยอ่อนอนุบาลในบ่ออนุบาล ซึ่งส่วนมากใช้บ่อคอนกรีต ขนาดตามความต้องการของผลผลิต ในอัตราการปล่อย 20,000-30,000 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะแรกยังไม่ต้องให้อาหาร เมื่อลูกปลาใช้ถุงอาหารสำรองหมดจึงเริ่มให้อาหาร ซึ่งอายุประมาณ 2 วัน อาหารในระยะนี้สามารถให้ไรแดงกินเป็นอาหาร ประมาณวันละ 100-200 กรัมต่อวันต่อลูกปลา 20,000 ตัว โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และเย็น เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 70% วันละครั้ง อนุบาลลูกปลาอายุครบ 7 วัน ลูกปลามีความยาวประมาณ 0.7-0.8 เซนติเมตร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากาแดง

ชื่อสามัญ ปลากาแดง Rainbow sharkminnow

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากาแดง Epalzeorhynchos frenatum (Fowler, 1934)

ลักษณะทั่วไปของปลากาแดง

ปลากาแดง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาแดงนคร อยู่ในสกุลเดียวกับปลาทรงเครื่องดูคล้ายปลาทรงเครื่องมาก แต่แตกต่างที่ลำตัวค่อนข้างยาว เรียวกว่า ตัวไม่ดำอย่างปลาทรงเครื่อง เป็นปลาที่มีลักษณะ มีรูปร่างยาวเพรียว คล้ายฉลาม หัวเล็กปากเล็ก มีหนวด 4 เส้น ครีบมีขนาดใหญ่ และสูง จัดเป็นปลาที่สวยงามชนิดเนื่องจากมีครีบต่าง ๆ เป็นสีแดงสด หรือ สีส้มอมแดง ตัดกับลำตัวสีดำ มีเส้นสีดำคาดตา และจุดสีดำรูปไข่ บริเวณโคนที่คอดหาง ในอดีตจับได้จำนวนมากจากแม่น้ำโขง ที่จังหวัดนครพนม จึงได้ชื่อว่า "กาแดงนครพนม" และพบที่แม่น้ำสงคราม กินอาหารจำพวกสาหร่าย และตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหิน แพลงก์ตอนสัตว์ และเศษพืชเน่าเปื่อย ปลาชนิดนี้มีขนาดเล็กเพียง 12 เซนติเมตรเท่านั้น

การแพร่กระจาย ปลากาแดง

ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบในแม่น้ำภาคกลางตั้งแต่ แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง และแม่น้ำแม่กลองที่ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคเหนือที่สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่แม่น้ำโขง

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเล็บมือนาง

ชื่อสามัญ ปลาเล็บมือนาง Siamese algae-eater

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเล็บมือนาง Crossocheilus siamensis (Smith, 1931)

ลักษณะทั่วไปของปลาเล็บมือนาง

ปลาเล็บมือนางเป็นปลาที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก และค่อนข้างหายากแล้วในปัจจุบัน มีขนาดเล็ก ขนาดที่มีพบทั่วไป มีขนาด 10 เซนติเมตร และขนาดใหญ่ที่พบมีขนาดประมาณ 16 เซนติเมตร รูปร่างเพรียวยาว ลำตัวค่อนข้างกลมหัวแหลม เป็นทรงกระบอก มีแผ่นหนังคลุมด้านริมฝีปากบน ครีบหลังยกสูง ครีบหางเว้าลึก ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนเหลือบทอง จับได้ครั้งแรกที่ ลำท่าดี ตอนเหนือ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังและด้านข้างลำตัวมีสีเขียว และจุดสีน้ำเงินอ่อนหรือม่วงประปราย หัวเขียวสด แถบข้างตัวจากหัวถึงระหว่างกลางหางดำ ครีบหลัง ครีบหาง และครีบอกเป็นสีเขียวอ่อน ครีบก้น และครีบท้องไม่มีสี อาศัยเป็นฝูงใหญ่ในแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแก่ง และมีพรรณไม้น้ำหนาแน่น พบในที่น้ำหลากเป็นฤดูกาล พบตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำโขง เป็นปลาสวยงามที่นิยมจับมาขายในท้องตลาด ชาวท้องถิ่นนำมารับประทานเป็นอาหาร กินอาหารจำพวก สาหร่ายและตะไคร่น้ำ

การแพร่กระจาย ปลาเล็บมือนาง

ปลาเล็บมือนาง พบที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเสือสุมาตรา

ชื่อสามัญ ปลาเสือสุมาตรา Tiger barb

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเสือสุมาตรา Puntius partipentazona (Fowler, 1934)

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือพ่นน้ำ

ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาตะเพียนแต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปลำตัวมีสีเหลืองทอง มีแถบสีดำพาดขวางลำตัว 5 แถบ ตั้งแต่หัว หน้าครีบหลัง บนครีบหลัง เหนือครีบก้น และปลายคอดหาง บริเวณปลายครีบมีสีส้ม ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่ว่ายน้ำตลอดเวลา และมีความว่องไว ค่อนข้างทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ปลาตัวผู้มีสีเข้มสดใส ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณผิวน้ำ แต่มีนิสัยก้าวร้าว โตเต็มที่มีขนาด 5 เซนติเมตร

การแพร่กระจาย ปลาเสือสุมาตรา

ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแถบทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณหมู่เกาะสุมาตราบอร์เนียว กาลิมันตัน มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยพบในบริเวณ แม่น้ำ ลำธาร และอ่างเก็บน้ำเกือบทั่วทุกภาคของไทย

การเพาะพันธุ์ปลาเสือสุมาตรา

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลาตัวผู้มีรูปร่างเพรียวแลดูยาว และแบนข้างมากกว่าตัวเมีย บริเวณปาก และครีบ มีสีออกแดง ส่วนตัวเมียมีลำตัวใหญ่ และป้อมกว่า ส่วนบริเวณปากมีสีไม่เข้มเหมือนตัวผู้ ปกติตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

การเพาะพันธุ์ ปลาเสือสุมาตราเพาะพันธุ์โดยการวางไข่ ไข่จะมีส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. ไข่มีสีออกค่อนข้างเหลือง ไข่ปลามีลักษณะเป็นไข่ประเภทเกาะติด ลูกปลาใช้เวลาในการฟักตัวออกจากไข่ประมาณ 36 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ตู้เพาะพันธุ์ควรใช้ตู้ปลาขนาด 12x20 นิ้ว โดยใส่สาหร่ายลงในตู้ เพื่อให้ไข่ปลาเกาะได้ น้ำควรเป็นน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อ และกำจัดคลอรีนแล้ว เมื่อเตรียมอุปกรณ์ พร้อมแล้วให้นำพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงในตู้ ปกติปลาชนิดนี้ไข่ในช่วงเช้ามืด จำนวนไข่ในแต่ละคอกเฉลี่ยประมาณ 200-300 ฟอง เมื่อพบปลาวางไข่เป็นที่เรียบร้อย แล้วให้ตักพ่อแม่ปลาออก

การอนุบาลลูกปลา เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้วยังไม่ต้องให้อาหาร ประมาณ 2 วัน ลูกปลายังคงใช้อาหารสำรอง และเมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ควรให้อาหารโดยใช้ไข่ต้มสุกแล้วนำเฉพาะไข่แดงมาบดให้ละเอียด แต่อย่าให้อาหารปลามากจนเกินไปเพราะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย หรือถ้ามีโรติเฟอร์ก็ควรให้กินในระยะนี้ เพราะทำให้ลูกปลามีอัตราการรอดตายสูงขึ้น หลังจากนั้นควรเริ่มให้ลูกไรเป็นอาหารอาหารสำหรับลูกปลา ปลาเสื่อสุมาตรา สามารถกินได้แทบทุกชนิด รวมทั้งอาหารสำเร็จรูป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on