Written by on

อะโรวาน่า (อะโรวาน่า)

ชื่อสามัญ อะโรวาน่า (อะโรวาน่า) Arowana

ชื่อวิทยาศาสตร์ อะโรวาน่า (อะโรวาน่า) Scleropages formosus

ลักษณะทั่วไปของปลาอะโรวาน่า

อะโรวาน่าเป็นปลามหัศจรรย์ที่สุดในบรรดาปลาสวยงามเพราะเป็นปลาโบราณที่ยังคงเหลืออยู่จากยุคหินให้นักเพาะเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นได้ชื่นชมอยู่ตลอดเวลา จากหลักฐานการค้นพบปลาชนิดนี้ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นดิน นักวิทยาศาสตร์บางท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอายุของปลาชนิดนี้ว่าปลาอะโรวาน่ามีมากว่า 60 ล้านปี ต่อมาเมื่อสภาวะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ปลาชนิดนี้มีการโยกย้ายที่อยู่อาศัย และมีการกระจายอย่างกว้างขวาง เช่น ลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา ประเทศออสเตรเลีย นิวกินี หรือแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ปลาอะโรวาน่ามีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างเรียบง่าย ทนต่อสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติก็จริง แต่ระบบการเพาะพันธุ์ค่อนข้างซับซ้อน ถึงมีบางประเทศทำการเพาะพันธุ์ได้แต่ก็มีปริมาณที่น้อยมาก จนทำให้ประเทศที่ถือกำเนิดปลาชนิดนี้ต้องออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และปลาอะโรวาน่าอย่างเด็ดขาด จึงทำให้ปลานี้มีราคาแพง ตัวหนึ่งราคาประมาณ 1,000 - 10,000 บาท

จากการศึกษาปลาอะโรวาน่าดำ แถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในปี ค.ศ. 1829 พบว่า ปลาอะโรวาน่าเลิน มีการขยายพันธุ์มากกว่าปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น สมัยนั้นชาวพื้นเมืองนิยมใช้เป็นอาหาร จากนั้นมาได้มีผู้เชี่ยวชาญชื่อ Dr. Vandell ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่ปลาชนิดนี้ว่า Osteoglossum biairrohosum และมีปลาอีกชนิดที่มีรูปร่างคล้ายกับปลาอะโรวาน่านั่นคือ อะราไพม่า ในแหล่งน้ำเดียวกัน และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่ปลาชนิดนี้ว่า Arapaima gigos ภายหลังได้ค้นพบปลาตระกูลนี้ทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำไนล์ทวีปแอฟริกาจึงเรียกชื่อว่า อะโรวาน่าแอฟริกา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heterotic nilotious

ประเทศฝรั่งเศสได้มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปลาน้ำจืดได้ค้นพบปลาอะโรวาน่าเวียดนามใน ค.ศ. 1933 บริเวณลำธารกลางหุบเขาของ กรุงไซ่ง่อน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 150 กม. ครั้นถึง ค.ศ. 1966 ได้ค้นพบปลาประเภทนี้อีกที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย

ประเทศไทยได้ค้นพบปลาอะโรวาน่า ตะพัด หรือมังกร แถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราดในอำเภอเขาสมิง ตามแหล่งน้ำบริเวณเขาบรรทัด และแม่น้ำทางใต้ที่ติดกับแนวชายแดนประเทศมาเลเซีย ปลาอะโรวาน่าที่เอ่ยมานั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกัน Sclercopages formosus ปัจจุบันนี้ปลาประเภทนี้นิยมเลี้ยงกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดีเนื่องจากราคาสูงกว่าปลาสวยงามประเภทอื่น ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นสำหรับต่างประเทศในทวีปเอเซียก็นิยมเลี้ยงกันมาก เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย

ปลาอะโรวาน่าวัยอ่อน ตามแนวสันหลังเริ่มจากขอบปากตลอดจนถึงครีบหาง มีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่เมื่อปลาโตเต็มที่ตามแนวสันหลังโค้งงอเล็กน้อย บนพื้นลำตัวมีแผ่นเกล็ดที่ค่อนข้างหนา และใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของลำตัว ซึ่งยาวถึงโคนครีบท้อง ปลาอะโรวาน่าจัดเป็นปลาหางกลม ปากกว้างใหญ่มีฟันแหลมคมอยู่บริเวณขากรรไกรล่าง และบน รวมถึงเพดานปาก มีหนวด 1 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ดวงตากว้างโต แววตาแจ่มใส ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.5 - 4.8 เท่าของความกว้าง เฉลี่ยแล้วเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนัก 7 กิโลกรัม ปลาที่อยู่ในตระกูลนี้มีโครงสร้าง และหลอดอาหารที่กว้างใหญ่ ลิ้นมีกระดูก

ปลาอะโรวาน่าชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณธารน้ำไหลนิ่งหรือบริเวณน้ำตื้น ๆ ตามร่มเงาของต้นไม้ที่ขึ้นตามริมขอบแม่น้ำ ใต้พื้นน้ำเป็นกรวดทราย สภาพของน้ำควรมีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 66.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงระหว่าง 77 องศาฟาเรนไฮด์ เมื่อถึงฤดูวางไข่ปลาตัวผู้ และตัวเมียชอบอมไข่ไว้ภายในช่องปาก อาหารโปรด คือ สัตว์น้ำขนาดเล็ก และเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอเหมาะกับปาก นิสัยเชื่องช้า รักสงบ สันโดษ ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม

ลักษณะพันธุ์ปลาอะโรวาน่า

พันธุ์ปลาอะโรวาน่าที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นปลาที่กำเนิดในทวีปเอเซียทั้งสิ้น แต่บางครั้งพบว่ามีผู้เลี้ยงปลาอะโรวาน่าสั่งซื้อปลาชนิดนี้ข้ามทวีปมาเลี้ยง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก ปลาอะโรวาน่า ทวีปเอเซียที่เลี้ยงกันมากมี 3 สายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากแตกต่างกันตรงที่สีสัน และครีบของลำตัวเป็นหลัก ดังนี้

  1. อะโรวาน่าแดง (Red arowana) เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงกว่าพันธุ์อื่น ราคาสูงมาก ลักษณะของปลาพันธุ์นี้สังเกตได้ที่แนวสันหลังมีสีน้ำตาลอมแดง แผ่นเกล็ดค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อยมีสีเขียวอมน้ำตาล ส่วนแผ่นเกล็ดบนพื้นลำตัวสีออกเขียวปนแดง หรือเขียวส้ม ส่วนท้อง และกระดูกเหงือกมีสีแดงอมส้ม และบริเวณโคนครีบทุกครีบมีสีเขียวอ่อน ส่วนปลายครีบมีสีแดงเลือดหมูหรือแดงอมส้ม ขอบปากสีแดงส้ม ถือกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น
  2. อะโรวาน่าทอง (Golden arowana) ลักษณะส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนกับอะโรวาน่าแดง ต่างกันตรงที่สีสันอะโรวาน่าทองมีสีเหลืองทอง และมีราคาถูกกว่าอะโรวาน่าแดง จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า อะโรวาน่าแดง ปลาชนิดนี้ถือกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
  3. อะโรวาน่าน้ำเงินหรือ อะโรวาน่าเขียว (Silver หรือ Green arowana) ลักษณะตามแนวสันหลังของอะโรวาน่าสีน้ำเงินหรือมีสีเขียวปนน้ำเงิน ตามแผ่นเกล็ดบนลำตัวสีเงินยวง ครีบทุกครีบมีสีเขียวอมน้ำตาล ปลาชนิดนี้ราคาต่ำกว่าอะโรวาน่าแดง และอะโรวาน่าทอง พบตามแหล่งน้ำในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย

เทคนิคและวิธีการดูความแตกต่างระหว่างอะโรวาน่า ปลาอะโรวาน่าแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ยากต่อการสังเกตฉะนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องอาศัยความชำนาญจากประสบการณ์ หรืออาจใช้วิธีการซักถาม จากร้านขายพันธุ์ปลา ดังเห็นได้ว่าพันธุ์อะโรวาน่ามีหลายสายพันธุ์ เช่น อะโรวาน่าทองอินโด อะโรวาน่าทองมาเลเซีย อะโรวาน่าทอง ดำ เงิน และปลาตะพัดดังกล่าวไว้แล้ว

ปลาอะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย

  1. เกล็ดมีขนาดเล็กบอบบาง สีเหลืองอ่อน ไม่แวววาว ขึ้นไม่เต็มแนวสันหลัง จึงทำให้มองเห็นเป็นสีเขียวอมดำ
  2. เมื่อปลามีขนาด 4 - 5 นิ้วขึ้นไป ครีบกระโดง และครีบหางปรากฏมีสีแดง และสีดำอย่างละครึ่งของครีบหาง ครีบก้นมีสีแดงตลอดทั้งครีบ ครีบหางมีขนาดเล็กกว่าปลาอะโรวาน่ามาเลเซียแต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สีต่าง ๆ เหล่านี้ ค่อย ๆ จางหายไป
  3. ขนาดลำตัวของปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยาวกว่าปลาอะโรวาน่ามาเลเซีย แต่ลำตัวค่อนข้างแคบ บริเวณหัวทู่แหลม

ปลาอะโรวาน่ามาเลเซีย

  1. เกล็ด มีสีสันแวววาวโดยเฉพาะบริเวณปลายเกล็ด ขอบเกร็ดแผ่กว้างใหญ่และหนา การขึ้นของเกร็ดขึ้นตามแนวสันหลัง มีสีทองตลอดทั้งตัว
  2. สัดส่วนของครีบอก ครีบกระโดง ครีบก้นมีขนาดความยาวกว่าปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย และมีสีทองอ่อนตลอดทั้งครีบ
  3. ขนาดลำตัวสั้น หนาและกว้างกว่าปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย ปลาอะโรวาน่ามาเลเซียส่วนหัวทู่ไม่แหลมเหมือนปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย

เทคนิคการซื้อปลาอะโรวาน่า

ในการที่ผู้เลี้ยงซื้อปลาชนิดนี้มาเลี้ยงต้องมีเทคนิคหรือหลักการที่พิจารณาในการเลือกซื้อดังนี้

  1. ส่วนประกอบต่างๆ ควรสมบูรณ์ โดยเฉพาะครีบหลัง
  2. ครีบกระโดง ครีบก้น และครีบหางต้องแผ่กว้าง ไม่มีรอยตำหนิใด ๆ เลย
  3. ลักษณะของการว่ายสง่างามทุกส่วน ครีบกระโดง ครีบหลัง ครีบทวารไม่ลู่หรือหุบขณะว่าย
  4. ลำตัวควรมีสีเข้ม ริมขอบล่าง และบนของลำตัวต้องขนานกันไปเป็นเส้นตรง
  5. รูปทรงของหนวดทั้งคู่ ควรมีลักษณะกลม และพุ่งตรงออกไปข้างหน้าไม่คดหรืองอ
  6. ดวงตา ควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม คือ ไม่คว่ำหรือตก มิใช่ดวงตาข้างหนึ่งมองกระจกอีกข้างหนึ่งมองพื้นตู้ และควรเลือกดวงตาที่แจ่มใสไม่มัวหมอง

การเลี้ยงปลาอะโรวาน่า

การเลี้ยงปลาอะโรวาน่าผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่ทุกเรื่องเป็นพิเศษเนื่องจากปลาชนิดนี้มีนิสัยชอบกัดกันเอง โดยมากผู้เลี้ยงมักเลี้ยงเพียงตัวเดียวในตู้กระจกขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่ตัวปลา และไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น ฉะนั้นการเลี้ยงควรปฏิบัติดังนี้

  1. การเตรียมตู้ปลา ตามธรรมชาติปลาอะโรวาน่าขยายด้านความยาวเพียง 24 นิ้ว ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องเลือกใช้ตู้ที่มีความกว้างยาวพอกับความเคลื่อนไหวไปมา และกลับตัวของปลาได้สะดวกไม่ก่อความอึดอัดให้แก่ตัวปลา ถ้าให้ดีควรเลือกตู้ปลาที่มีขนาดตั้งแต่ขนาด 48 x 20 x 20 ลูกบาศก์นิ้ว หรือ 60 x 24 x 24 ลูกบาศก์นิ้ว ขึ้นไป จึงเหมาะสม
  2. สถานที่ตั้งตู้ปลา จุดสำคัญในการตั้งตู้ปลาอยู่ที่ฐานรองรับนั่นเอง คือขาตู้ควรมีความแข็งแรงทานน้ำหนักปริมาณน้ำในตู้ และตัวปลา โดยเฉพาะตู้ปลาที่เลี้ยงปลาอะโรวาน่าบรรจุน้ำตั้งแต่ 320 - 570 ลิตร เพราะฉะนั้นสถานที่ตั้งตู้ปลาควรอยู่ในที่สงบไม่มีคนรบกวน ให้โดนแสงอ่อน ๆ บ้าง เพื่อให้ปลามีความแข็งแรง และมีสีสันสวยงามขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ไม่ควรให้โดนแสงแดดมากเกินไป เพราะทำให้ตู้ปลามีตะไคร่น้ำเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้เลี้ยงจึงนิยมตั้งตู้ปลาบริเวณช่องลม เพื่อให้รับแสงแดดยามเช้า บางครั้งถ้าจำเป็นก็ควรให้แสงสว่างจากหลอดไฟเข้าช่วย
  3. กรวด ทราย หิน ที่ใช้ประดับตู้ปลา การใช้กรวด หิน ทราย ลงไปภายในตู้ปลาไม่ใช่ช่วยให้บรรยากาศในตู้เหมือนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเก็บกักสิ่งสกปรก และช่วยกรองน้ำให้ใสสะอาดอีกด้วย ในการนำกรวด หิน ทราย ควรเลือกชนิดที่ขาวสะอาดไม่มีมุมแหลมคม ถ้าเป็นกรวด หิน ทราย ที่ได้มาจากชายทะเลก่อนที่ผู้เลี้ยงนำใส่ตู้ปลาต้องแช่ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 วัน จึงนำมาประดับตู้ได้ ก่อนใส่ กรวด หิน ทราย ชั้นแรกควรวางแผ่นกรองบนตู้เสียก่อนแล้วจึงค่อย ๆ ใส่กรวด หิน ทราย ลงไปคลุมด้วยความหนา 1-2 นิ้ว ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับขนาดของตู้ปลาด้วย การใส่หินเพื่อประดับตู้ปลาควรให้ปลามีพื้นที่ว่ายน้ำได้สะดวกไม่จำกัดพื้นที่ เพราะอาจทำให้ปลาได้รับบาดแผลเมื่อปลาได้รับความตื่นตกใจ กรวด ทราย หินที่ใช้ประดับตู้ปลาเป็นเวลานานมากสีค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำควรนำออกมาล้างกำจัดสิ่งสกปรกเสีย ปกติการล้างตู้ปลาทำประมาณ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนปลา และเศษอาหารที่ปลากินเหลือ
  4. ระดับอุณหภูมิ สำหรับประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากระดับอุณหภูมิเหมาะสำหรับเลี้ยงปลาอะโรวาน่าอยู่แล้ว เช่น อะโรวาน่าแดง และอะโรวาน่าทอง ชอบอุณหภูมิระหว่าง 24-26 องศาเซลเซียส ส่วนปลาอะโรวาน่าสีน้ำเงิน และอะโรวาน่าดำ ควรปรับอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 27-28 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นฤดูฝน และฤดูหนาวตอนกลางคืน ระดับอุณหภูมิแตกต่างจากกลางวันมาก ดังนั้นควรเปิดไฟทิ้งไว้หรือใช้ฮีทเตอร์ช่วยปรับระดับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับปกติ
  5. สภาพน้ำที่ใช้เลี้ยง สภาพน้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลี้ยงปลาอะโรวาน่า ฉะนั้นผู้เลี้ยงควรรักษาระดับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำให้อยู่ระหว่าง 6.4-6.8 จึงเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาอะโรวาน่า น้ำที่ใช้เลี้ยงมากที่สุดคือ น้ำประปา เพราะเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค แต่ก่อนนำน้ำประปามาใช้เลี้ยงควรกักน้ำให้เพียงพอ แล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหย และช่วยรักษาความเป็นกรดด่างให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ปัญหาของน้ำอยู่ตรงที่ว่าเมื่อใช้เลี้ยงไปนานวันเข้าระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้ปลาเกิดโรคได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรถ่ายน้ำเมื่อเห็นว่าสภาพของน้ำสกปรก
  6. การปล่อยปลา จากการเตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเติมน้ำยาปฎิชีวนะลงไปในตู้ปลา เพื่อช่วยรักษาความบอบช้ำต่าง ๆ ของปลา ยาปฏิชีวนะที่นิยมใส่ก่อนปล่อยปลาได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล แอมพิซิลิน เตตร้าซัยคลิน อัตราส่วนในการผสมตัวยา 1 แคปซูลต่อน้ำ 20 ลิตร การซื้อปลาจากแหล่งขายปลา ผู้ขายส่วนใหญ่มักใช้ถุงพลาสติกบรรจุ ผู้เลี้ยงควรนำถุงพลาสติกนั้นไปแช่ลงในตู้ไว้ 15-20 นาที เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของน้ำที่ใช้เลี้ยงได้ดีขึ้น
  7. การให้อาหาร ปลาไม่ยอมกินอาหารเนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสภาพน้ำ หลังจากนี้ประมาณ 2-3 วัน ปลาค่อย ๆเริ่มกินอาหาร ถ้าปลาอะโรวาน่าขนาดต่ำกว่า 4-5 นิ้ว อาหารที่ให้ควรเป็นหนอนแดง ลูกน้ำ ลูกปลา ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยพอที่กินอาหารสดหรือแมลงตัวเล็ก ๆ เช่น กุ้งฝอย จิ้งจก แมลงสาบ ตะขาบ เนื้อกุ้งทะเล หมึก เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็ควรให้กิน เพราะว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเพิ่มสีให้เข้มขึ้น แต่อาหารประเภทเครื่องในไม่จำเป็นก็ไม่ควรให้โดยเฉพาะตับเพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจทำให้ปลาท้องอืดได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรเลือกอาหารให้เหมาะสมตามชนิดของปลา การให้ต้องเป็นเวลา เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อวัน
  8. การเปลี่ยนน้ำ จากลักษณะนิสัยการกินอาหารของปลาอะโรวาน่าที่ชอบกินอาหารสด จึงทำให้สภาพของน้ำภายในตู้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการเกิดก๊าซไนเตรท ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปลาได้ เช่น ถ้าปลามีแววตาขุ่นมัว ครีบทุกครีบมีสีไม่สดใสขาดความงามไป ผู้เลี้ยงควรทำการถ่ายน้ำทุก ๆ สัปดาห์ ในการถ่ายน้ำทุกครั้งประมาณ 1/4 ของปริมาณน้ำภายในตู้ทั้งหมด แล้วใส่น้ำใหม่ไปแทนที่ในระดับน้ำเก่า การถ่ายน้ำปลาอะโรวาน่าในช่วงแรกหากไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุสุดวิสัยไม่ควรถ่ายน้ำเพราะอาจทำให้ปลาเครียด และตื่นตกใจพุ่งชนกระจกตู้ปลาถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นผู้เลี้ยงควรปล่อยให้ปลามีความคุ้นเคยกับสถานที่เสียก่อนประมาณ 7 วัน จึงเริ่มถ่ายน้ำ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ผู้เลี้ยงควรปิดฝาตู้ปลาให้สนิทเพื่อป้องกันปลากระโดด

การแพร่ขยายพันธุ์ปลาอะโรวาน่า

เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2509 ณ ลองเจบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเพาะพันธุ์ปลาอะโรวาน่าสีน้ำเงินประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการนำพ่อแม่พันธุ์ปลาอะโรวาน่าที่มีลักษณะสมบูรณ์มาขุน และปรับสภาพความเป็นอยู่ให้พร้อม เพื่อการผสมพันธุ์ในตู้ปลาที่มีความจุน้ำ 360 แกลลอน ขุนด้วยการให้กินลูกปลาขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาทอง ลูกกุ้ง วันละ 100 ตัว เรื่อย ๆ ไปจนถึงกำหนด 14 วัน การขุนครั้งนี้สังเกตได้ว่าพ่อปลาเท่านั้นที่กินอาหาร ส่วนแม่ปลาไม่ยอมแตะต้องอาหารแม้แต่มื้อเดียว เมื่อสภาพร่างกายสมบูรณ์เต็มที่ แม่ปลาวางไข่ชุดแรกประมาณ 12 ฟอง เป็นไข่ประเภทจมน้ำเกาะติดพื้นตู้ ต่อจากนั้นพ่อปลาฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมคลุกเคล้ากับไข่จนทั่วถึง พ่อแม่ปลาทั้งสองต่างดูดอมไข่ไว้ในช่องปาก ซึ่งช่องปากมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็กสามารถขยายได้เพื่อเก็บ และฟักไข่จำนวนมาก พ่อแม่ปลาดูดไข่ไว้ปริมาณเท่า ๆ กัน จนเข้าวันที่ 3 แม่ปลาเริ่มทยอยปล่อยไข่ที่อมออกมา และมีพฤติกรรมเกเรต่อพ่อปลา ผู้เลี้ยงจึงควรแยกแม่ปลาออกจากตู้เพาะเลี้ยง พอเช้าวันที่ 7 พ่อปลาเริ่มคายเปลือกไข่ที่อมไว้ออกมาก็แสดงว่าไข่ถูกฟักออกเป็นตัวอ่อน ช่วงนี้ตัวอ่อนถูกพ่อปลาอมไว้ในปากเป็นระยะเวลา 45 วัน ซึ่งช่วงนี้พ่อปลาไม่ยอมกินอาหารจนกว่าลูกปลาเริ่มเคลื่อนไหว และว่ายออกมาจากปากรวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 66 วัน ลูกปลาที่เกิดใหม่ควรให้อาหารจำพวกอาร์ทีเมีย และแยกออกไปเลี้ยงในตู้เพาะตามลำพังเพียงตัวเดียว เนื่องจากลูกปลาเมื่อเติบโตมีนิสัยดุร้ายกัดกันเอง สำหรับพ่อปลาค่อย ๆ เริ่มกินอาหารจำพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่อไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาพลาตี้

ชื่อสามัญ ปลาพลาตี้ Common platy

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาพลาตี้ : Xiphophorus maculatus) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิืดหนึ่ง ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) อันดับปลาออกลูกเป็นตัว (Cyprinodontiformes)

ชื่อ "พลาตี้" นั้นมาจาก คำว่า Platypoecilus ซึ่งเดิมเคยใช้เป็นสกุล มีลักษณะลำตัวสั้นป้อม และกว้างกว่าปลาสอดหางดาบ (X. hellerii) ปลาตัวผู้ และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน คือ ปลาตัวผู้ไม่มีส่วนของก้านครีบหางยื่นยาวออกไป เหมือนปลาสอดหางดาบ การสังเกตความแตกต่างระหว่างเพศได้จากโกโนโพเดียม หรืออวัยวะสืบพันธุ์ของปลาตัวผู้ และสีที่สดใสกว่า และขนาดโตกว่าของปลาตัวเมีย มีสีลำตัวค่อนข้างเหลืองจนถึงน้ำตาลอมเขียว หรือเขียวคล้ำอมน้ำเงิน ครีบหลังสั้น มีขนาดเล็ก และมีรูปร่างเกือบกลม ครีบอก ครีบท้อง และครีบหางไม่มีสี แต่ครีบหางอาจมีขอบเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงิน บริเวณโคนหางมีจุดเล็ก ๆ 1-2 จุด ปลาเพศผู้อาจมีแถบจาง ๆ พาดขวางลำตัว 2-5 แถบ

แพร่กระจายพันธุ์อยู่ในประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลางประเทศอื่น ๆ อาทิ กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส มีพฤติกรรมอาศัยหลบซ่อนตามไม้น้ำ หรือใต้ร่มเงาริมฝั่งในแหล่งน้ำนิ่ง ในน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 7.0-7.5 (pH)

ปัจจุบัน ปลาพลาตี้ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ได้มีการเพาะขยายพันธุ์จนมีสีสันตลอดจนลวดลายสวยงามกว่าปลาดั้งเดิมในธรรมชาติมากมาย เช่น สีแดง, สีเขียว, สีส้ม, สีดำ, สีทอง หรือหลายสีในตัวเดียวกัน และครีบยาว เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาตะเพียนทอง

ชื่อสามัญ ปลาตะเพียนทอง Red tail หรือ Tinfoil barb

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาตะเพียนทอง Barbonymus altus (Günther, 1868)

ลักษณะทั่วไปของปลาตะเพียนทอง

ลำตัวเป็นสีน้ำตาลทองซึ่งในช่วงวัยเจริญพันธุ์มีสีลำตัวเป็นสีเหลืองทอง ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับปลาตะเพียนขาว คือ ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก ปากเล็ก ริมฝีปากขอบส่วนโค้งยกสูงขึ้น ความยาวของลำตัวเท่ากับ 2.5 เท่าของความสูง จะงอยปากแหลม มีหนวดเส้นเล็ก ๆ 2 คู่ ลำตัวเป็นสีเงิน ส่วนหลังมีสีคล้ำ ส่วนท้องสีขาว โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ปลาตะเพียนทองมีสีสวยงามกว่า ที่ฐานของครีบหางเป็นสีแดงส้ม ครีบหลัง ครีบท้อง และครีบก้นมีสีส้ม ซึ่งสีลดลงเมื่อปลาอายุมากขึ้น การกินอาหารกินพืช และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร วางไข่ในฤดูฝน โดยวางไข่บริเวณน้ำไหล เป็นไข่แบบครึ่งจมครึ่งลอย

การแพร่กระจาย ปลาตะเพียนทอง

ปลาตะเพียนทองอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบ นอกจากนี้ยังพบแพร่กระจายอยู่ ลาว กัมพูชา มลายู และ อินโดนิเซีย

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเสือพ่นน้ำ

ชื่อสามัญ ปลาเสือพ่นน้ำ Archer fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเสือพ่นน้ำ Toxotes chatareus (Hamilton, 1822)

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือพ่นน้ำ

ปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาที่มีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัว และลำตัว ประกอบด้วยจุดสีดำกลม หรือรี จำนวน 6-7 จุด ครีบหางตัดตรงมีสีส้มอมเหลือง ครีบหลัง และครีบก้นมีสีเหลืองขอบเป็นสีดำ จะงอยปากแหลม ตามีขนาดใหญ่ค่อนไปทางด้านบน จึงมีความสามารถมองเห็นเหนือผิวน้ำได้ดี ขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ลำตัวรูปทรงขนมเปียกปูน ป้อมสั้น แบนข้าง โดยเฉพาะท้องแบนเป็นสัน บริเวณท้องมีสีเงิน ลำตัวสีเหลืองลายดำเหมือนเสือ จึงได้ชื่อว่า ปลาเสือ มีขนาดลำตัวทั่วไปยาวเฉลี่ยไม่เกิน 20 ซม. ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบยาว 25 ซม. การแยกเพศสังเกตจากลักษณะภายนอก เพศเมียมีช่วงท้องยาวกว่าเพศผู้ ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นปลาที่ชอบว่ายน้ำขึ้นมาตามผิวน้ำหรือระดับใต้ผิวน้ำพอดี การเคลื่อนที่ในระยะยาวมักเคลื่อนไปในแนวเส้นตรง และมองเห็นน้ำแตกแยกเป็นทางที่ปลายขอบกระพุ้งแก้ม จนทำให้สามารถรู้ว่ามีปลาว่ายน้ำในบริเวณนั้น การที่ปลาเสือพ่นน้ำ มีนิสัยว่ายน้ำแบบนี้เนื่องจาก ปลาต้องคอยมองหาเหยื่อที่จะกินเป็นอาหารส่วนมากเป็นแมลงขนาดเล็ก ๆ และอีกประการหนึ่งเนื่องจากปลาอาศัยอยู่ในบริเวณปากอ่าวปากแม่น้ำที่น้ำมีความขุ่นสูง ทำให้ประสิทธิภาพการใช้สายตาในน้ำมีจำกัด ปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารจำพวก แพลงก์ตอนสัตว์ โรติเฟอร์ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกกุ้ง สัตว์จำพวกมด และแมลง สามารถฝึกให้กินเนื้อปลาสับ และอาหารเม็ดสำเร็จรูปได้ นอกจากนี้ปลาเสือพ่นน้ำมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการกินแมลง โดยมีวิวัฒนาการทำให้เหงือกเกิดช่องใต้เพดานปาก เพื่อสามารถพ่นน้ำออกไปได้เป็นลำด้วยแรงอัดของแผ่นปิดเหงือก

การแพร่กระจาย ปลาเสือพ่นน้ำ

ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นปลาที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศแถบตะวันออก เช่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า และอินเดีย ในประเทศไทยพบอยู่ตามแม่น้ำ และลำคลอง หนอง บึง ที่มีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำ และพบมากในบริเวณปากแม่น้ำ ปลาเสือพ่นน้ำพบชุกชุมในเขตภาคกลาง และภาคใต้

การเพาะพันธุ์ปลาเสือพ่นน้ำ

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การแยกเพศปลาเสือพ่นน้ำสังเกตจากลักษณะภายนอก คือปลาเสือพ่นน้ำเพศผู้ลำตัวเพรียว ช่วงท้องแคบ และสีครีบก้นเป็นสีดำเข้มกว่าปลาเสือพ่นน้ำเพศเมีย ควรมีขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 16 ซม. น้ำหนักตัวโดยประมาณ 90 กรัม อายุของพ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี

การผสมพันธุ์ การเพาะพันธุ์ปลาเสือพ่นน้ำ ควรใช้พ่อแม่ที่เลี้ยงไว้จนเกิดความชินต่อสภาพแวดล้อมในที่กักขังเมื่อดำเนินการคัดเลือกพ่อแม่แล้ว นำพ่อแม่มาใส่ไว้ในตู้กระจก โดยให้อากาศตลอดเวลา ปล่อยในอัตราเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 1:2 ซึ่งเป็นอัตราที่ให้ผลผลิตลูกปลาจำนวนมากกว่าในอัตราอื่น ๆ และไม่มีความแตกต่างในด้านต่าง ๆ เช่น จำนวนไข่ต่อแม่ อัตราการฟัก และ จำนวนตัวต่อแม่ ตู้กระจกที่ใช้ในเพาะมีขนาด 40x120x45 เซนติเมตร เลี้ยงโดยให้ลูกปลามีชีวิตขนาดเล็กกินเป็นอาหาร โดยให้ 2 วันต่อครั้ง ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 3 วัน ในปริมาณ 1 ใน 3 ส่วนของน้ำในตู้ ซึ่งน้ำที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายต้องทำการพักไว้ก่อน ๆ นำไปใช้ควรมีการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำ และทำการปรับคุณสมบัติของน้ำโดยเฉพาะอุณหภูมิ และค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ให้มีค่าใกล้เคียงกับคุณสมบัติของน้ำในตู้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และควรตั้งตู้เพาะไว้ในบริเวณที่ไม่มีเสียงดัง เพราะปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาที่ตื่นตกใจได้ง่าย ในการเพาะพันธุ์ พบว่าปลาเสือเริ่มผสมวางไข่ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยไข่เป็นประเภทไข่ลอย เมื่อแม่ปลาวางไข่ พบว่าไข่จะลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ และกระจายเต็มตู้ ไข่มีสีขาวอมเหลืองใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.8 มิลลิเมตร ใช้เวลาการฟักประมาณ 14-16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 27-29 องศาเซลเซียส

การอนุบาลลูกปลาเสือพ่นน้ำ

เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวในระยะ 2 วันแรก ยังไม่ต้องให้อาหารลูกปลา เนื่องจากลูกปลาใช้อาหารจากถุงอาหารสำรองที่ติดตัวตั้งแต่เกิด และควรแยกลูกปลาออกไปอนุบาลก่อนที่ลูกปลาจะเริ่มกินอาหาร อาหารลูกปลาในระยะแรกควรให้ โรติเฟอร์กินเป็นอาหารเนื่องจากลูกปลาเสือที่เกิดใหม่มีขนาดเล็ก โดยมีขนาดความกว้างของปากประมาณ 210 ไมครอน ให้อาหารวันละ 3 เวลา ในปริมาณที่มากเกินพอ ตลอดระยะเวลาการอนุบาล ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพราะลูกปลาเสือมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ เมื่อลูกปลามีอายุครบ 8 วัน ควรปรับเปลี่ยนอาหารเป็นพวกไรน้ำขนาดเล็ก เช่น ไรแดง อนุบาลลูกปลาจนครบ 45 วัน ลูกปลาเสือพ่นน้ำมีลักษณะเหมือนพ่อแม่พันธุ์ ลูกปลามีความยาวประมาณ 2 ซม. ซึ่งสามารถนำไปอนุบาลต่อในบ่อดิน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาหางไหม้ (ฉลามหางไหม้)

ชื่อสามัญ  ปลาหางไหม้ (ฉลามหางไหม้) Silver shark

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหางไหม้ Balantiocheilos melanopterus (Bleeker, 1851)

ลักษณะทั่วไปของปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างเรียวแบนด้านข้าง ขนาดที่พบในประเทศไทยประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ในเกาะบอร์เนียวพบขนาดยาวถึง 35 เซนติเมตร ส่วนปากอยู่ด้านใต้ของส่วนหัว ริมฝีปากบนหนาเป็นปุ่ม และริมฝีปากล่างมีร่องซึ่งมีลักษณะคล้ายถุงเปิดออกทางด้านหลัง ขอบด้านหลังของครีบหลังและครีบก้นเว้าเห็นได้ชัด ก้านครีบก้านสุดท้ายของครีบหลัง หนา แข็ง และมีหยักซี่เล็ก ๆ ครีบหางมีลักษณะเป็นหางสามเหลี่ยมเว้าลึก ไม่พบว่ามีหนวดเลย ลำตัวทางด้านหลังสีเทาอมฟ้า ข้างลำตัวสีเงินวาว ครีบทุกครีบสีเหลืองขลิบดำทางด้านหลังยกเว้นครีบหู ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในแม่น้ำ และลำธารทั่วไป มีนิสัยชอบกินทั้งพืช และสัตว์ เช่น กุ้งขนาดเล็ก แมลงน้ำ และสัตว์ขนาดเล็ก ฯลฯ ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการกระโดดลอยสูงจากผิวน้ำได้สูงถึง 2 เมตร ปลาตัวเมียค่อนข้างก้าวร้าวกว่าปลาตัวผู้ ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

การแพร่กระจาย ปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ และลำธารทั่วไป ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังพบแพร่กระจายอยู่ลาว กัมพูชา มลายู สุมาตราและบอร์เนียว

สถานภาพ ปลาหางไหม้

ในอดีตเคยมีปลาหางไหม้ชุกชุมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง มีชุกชุมเป็นพิเศษในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากการจับปลาหางไหม้เป็นจำนวนมากจากแหล่งน้ำธรรมชาติในระยะ 20 ปีที่แล้ว และการเน่าเสียของแหล่งอาศัยได้ทำให้ปลาชนิดนี้หมดไปจากแหล่งน้ำในหลายบริเวณ อย่างน้อยที่สุดก็หมดไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ปัจจุบันยังพอพบได้จากแหล่งน้ำอื่น ๆ ปีละ 5-10 ตัวเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากระแห

ชื่อสามัญ ปลากระแห Tinfoil barb

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากระแห Barbonymus schwanenfeldii (Bleeker, 1853)

ลักษณะทั่วไปของ ปลากระแห

ปลากระแห มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงทั่วทุกภาคทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภาษาท้องถิ่น เช่น พบในภาคกลางเรียกกระแห ตะเพียนหางแดงหรือกระแหทอง ภาคใต้เรียกปลาลำปำ ส่วนภาคอีสานเรียกปลาเลียนไฟ ปลากระแหมีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียน แต่ป้อมสั้นกว่า ลำตัวแบนข้าง ส่วนหลังยกสูง หัวค่อนข้างเล็ก ตาโต มีหนวด 2 คู่ที่ริมฝีปาก ปากเล็กอยู่สุดของจะงอยปาก เกล็ดเล็กมีสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง สีพื้นของลำตัวเป็นสีขาวเงินหรือสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว ขอบตาดำเป็นสีเหลือง แก้มเหลืองปนแดง ขอบบนและล่างของครีบหางมีแถบสีดำข้างละแถบ ครีบอื่น ๆ มีสีส้มสดยกเว้นขอบบนของครีบอกและขอบล่างของครีบหางที่มีแถบสีดำยาว มีขนาดประมาณ 15 ซ.ม. ถึง 25 ซ.ม. อาหารกินพรรณไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อยเป็นอาหารครีบหลังสีส้มมีแต้มสีดำชัดที่ด้านบนสุด พบอาศัยอยู่เป็นฝูงในแม่น้ำและหนองบึงทุกภาคของประเทศไทย หรือตามหน้าวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำต่าง ๆ โดยมักจะอาศัยอยู่รวมกับปลาตะเพียน ตะเพียนทอง แก้มช้ำ หรือปลาในตระกูลปลาตะเพียนชนิดอื่นด้วยกันเสมอ

การแพร่กระจาย

ปลากระแหอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบ นอกจากนี้ยังพบแพร่กระจายอยู่ ลาว กัมพูชา มลายู และ อินโดนิเซีย

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

แมนพันธุ์..อะบีซิเนียน

เชื่อ กันว่าเป็นแมวที่มีบรรพบุรุษ มาจากแมวในอียิปต์โบราณ ในสมัยนั้นคนอียิปต์ต้องถือว่าแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีกรรม การสักการะเทพเจ้าบาเบท ที่เป็นหญิงมีหัวเป็นแมว แมวพันธ์นี้ ได้ถูกนำไปเกาะอังกฤษราวปี 1968 ว่ากันว่าทหารอังกฤษ ที่มารบในสงคราม อะบีสซีเนียน เป็นผู้นำไป แถบที่สงครามเกิดในปัจจุบัน ก็คือ ประเทศเอธิโอเปียนั่นเอง เป็น แมวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอียิปต์ ถูกนำเข้าสู่อังกฤษโดยนายทหารที่ไปรบ ที่เกาะซูลู ประมาณปี ค.ศ.1968 เป็นแมวขนาดเล็กและสวยงาม หัวยาวแหลมกว่าแมวไทย ใบหูใหญ่ปลายแหลม ตาสีเหลืองเขียวและน้ำตาลอ่อน ขนสั้นละเอียดเป็นลายกระรอก ปัจจุบันนี้ค่อนข้างหามาเลี้ยงดูได้ยาก

ลักษณะสายพันธุ์

สี : มีสีของแมวคือ น้ำตาลแดง น้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลมีแถบน้ำตาลเข้มปน

รูปร่างและขนาด : เป็นแมวขนาดกลาง ลำตัวสมส่วนเพรียวไม่ดูเทอะทะ หัวจะเป็นรูปลิ่มสามเหลี่ยม ใบหูใหญ่ชี้ขึ้น ตาโตรูปอัลมอนด์ตาสีเหลืองอำพัน หรือสีน้ำตาลแดง สีเขียวก็ยังยอมรับได้ ขาจะยาวเท้าเล็กรูปไข่

ลักษณะนิสัย : รักอิสระ เรียนรู้สิ่งต่างๆว่องไว ฉลาดมากมีความตื่นตัวสูง เหมาะสำหรับคนที่มีบ้านช่องใหญ่โตเพราะเป็นแมวที่ร่าเริงตลอดวัน

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร สัตว์เลี้ยงแสนรัก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on