รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พันธุ์ปลา ลักษณะของปลาแต่ละสายพันธุ์ รวมสายพันธุ์ปลาไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงาม หรือปลาเศรษฐกิจ สายพันธุ์ปลาทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป เพื่อคุณผู้อ่านจะได้รู้ถึงมาตรฐานสายพันธุ์ของปลา แต่ละสายพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร จะได้เลือกมาเลี้ยงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการ หรือสำหรับคนที่เลี้ยงอยู่แล้วก็จะได้เลี้ยงอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขที่สุดทั้งคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยงค่ะ

Written by on

ปลาม้าลาย

ชื่อสามัญ ปลาม้าลาย Zebra danio.

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาม้าลาย Danio rerio (Hamilton, 1822)

ลักษณะทั่วไปของปลาม้าลาย

ปลาม้าลายมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียด้านตะวันออก จัดได้ว่าเป็นปลาสวยงามอีกชนิดหนึ่งที่เพาะพันธุ์ง่าย และมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงขอสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเหมาะแก่การเริ่มฝึกหัดเพาะพันธุ์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องคอยดูแลเอาใจใส่มากนัก ปลาม้าลายเมื่อโตเต็มที่ มีขนาดได้ประมาณ 5 เซนติเมตร สีที่ลำตัวเป็นสีเหลือบน้ำเงิน สลับด้วยสีเขียวมะกอกดำ จำนวน 3 เส้น เป็นแนวยาวตลอดลำตัวจนถึงส่วนหางทำให้มองเห็นลักษณะลวดลายคล้ายม้าลาย จึงได้เรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาม้าลาย และบริเวณใต้ปากมีหนวดอยู่จำนวน 2 เส้น ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงๆ ในบริเวณที่มีแสงสว่างพอสมควร การว่ายน้ำ และการผสมพันธุ์มีความว่องไวปราดเปรียว มักว่ายน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

การเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ก่อนที่เริ่มลงมือเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย ผู้เพาะพันธุ์ต้องแยกเพศปลาจากรูปร่างปลาเสียก่อน ลักษณะปลาม้าลายตัวเมีย มีลำตัวป้อม และสั้นกว่าตัวผู้ เมื่อปล่อยให้ปลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เห็นได้ว่าตัวผู้มักไล่ต้อนตัวเมียอยู่เสมอ

ปลาที่นำมาเพาะพันธุ์ต้องเป็นปลาที่สมบูรณ์ และแข็งแรง หรือเจริญเป็นตัวเต็มวัยเสียก่อน โดยที่พ่อพันธุ์ควรมีรูปร่างปราดเปรียว สีสันสดใส เครื่องทรงครบสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด สำหรับแม่พันธุ์ควรเลือกให้มีลักษณะเหมือนกับตัวผู้ แต่ตรงบริเวณส่วนท้องต้องอูมหรือเต่งใหญ่แสดงถึงความแก่ของปลา ดังนั้นการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์พยายามอย่าเลือกปลาที่ไม่ยอมเข้าอยู่รวมกลุ่มกับตัวอื่นมาเพาะ เนื่องจากไม่ช่วยในการผสมพันธุ์แล้ว ยังก่อให้เกิดผลจากการกินไข่ที่ออกมาด้วย

อุปกรณ์การเพาะพันธุ์

  1. ตู้ที่ใช้เพาะพันธุ์ ควรมีขนาด 12 นิ้ว หรือจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ได้ ตามความเหมาะสม
  2. พันธุ์ไม้น้ำ เช่นสาหร่ายต่างๆ ประมาณ 1-3 ต้น
  3. ก้อนกรวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร
  4. ตะแกรงลวดหรือตะแกรงพลาสติก ขนาดเท่ากับความกว้างของตู้ปลา เพื่อป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์เล็ดลอดออกมากินไข่
  5. น้ำสำหรับใช้ในการเพาะพันธุ์ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคและคลอรีน

หลังจากเตรียมอุปกรณ์เพาะพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ควรเลือกสถานที่ตั้งตู้ปลาให้มีแสงแดดอ่อน ๆ ส่องลงมาอย่างทั่วถึง ประมาณวันละ 2-3 ชั่วโมง ปลูกพันธุ์ไม้จำพวกสาหร่ายลงไปประมาณ 2-3 ต้น แล้วนำกรวดที่เตรียมไว้ปูทับลงไปให้สูงจากพื้นตู้ประมาณ 1 นิ้ว แล้วเติมเกลือเล็กน้อย เพื่อป้องกันเชื้อโรค ใส่น้ำให้ได้ระดับ ใช้ตะแกรงกั้นแบ่งตู้ปลาออกเป็นสองชั้น

การเพาะพันธุ์ เมื่อจัดวางอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างแล้ว ให้ปล่อยแม่พันธุ์ที่ท้องแก่เต็มที่ลงไปไว้ในตู้ก่อนสัก 2 วัน เพื่อการสร้างความเคยชินกับน้ำ และสถานที่เพาะพันธุ์เสียก่อน จากนั้นให้นำพ่อพันธุ์ปล่อยลงไปอยู่กับแม่พันธุ์ภายในตู้เพาะพันธุ์ ในอัตราส่วนตัวเมียต่อตัวผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 3-4 ตัว ส่วนใหญ่แล้วนักเพาะพันธุ์มักนิยมปล่อยในช่วงเย็นดีที่สุดเพราะแม่พันธุ์มักวางไข่ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจากปลาม้าลายมีการผสมพันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถปล่อยไข่ออกมาขณะที่ว่ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ตัวผู้ที่ปล่อยเป็นจำนวนมากนั้นก็เพื่อช่วยผลิต และฉีดน้ำเชื้อไปยังกลุ่มไข่ได้อย่างทั่วถึง ถ้าเราใช้ตัวผู้เพียงตัวเดียวน้ำเชื้อไม่ทั่วถึง ครั้นปลาวางไข่หมดแล้ว สังเกตได้จากแม่พันธุ์ที่ท้องแฟบลง ผู้เพาะพันธุ์ควรตักพ่อ และแม่พันธุ์ออกจากตู้ปลาพร้อมกับเก็บตะแกรงที่กั้นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออกมาด้วย

การอนุบาลลูกปลา ไข่ตัวเมียที่ได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ เจริญเป็นตัวอ่อนภายใน 2-3 วัน ซึ่งระยะนี้ตัวอ่อนต้องใช้อาหารจากไข่แดงที่ติดตัวมา เพื่อการอยู่รอดอีกประมาณ 2-3 วัน จากนั้นไข่แดงถูกย่อยสลายจนหมด อาหารมื้อแรกที่ผู้เพาะพันธุ์ให้แก่ลูกปลา คือ ไรแดง เมื่อลูกปลาโตพอสมควร ให้อาหารลูกน้ำแทนไรแดง เนื่องจากลูกปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ข้อพึงระวัง คือ ไม่ควรเลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดเล็กร่วมกับปลาประเภทอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะจะได้รับอันตรายหรือเป็นอาหารของปลาเหล่านั้นได้

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเพนกวิน

ชื่อสามัญ ปลาเพนกวิน Boehlke's penguin

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเพนกวิน Thayeria boehlkei Weitzman, 1957

ลักษณะทั่วไปของปลาเพนกวิน

ปลาเพนกวินเป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดราว 6-8 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ ปลาชนิดนี้มีแถบสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ขึ้นเป็นทางเริ่มจากส่วนหลังของเหงือก และพาดผ่านลำตัวเป็นแนวยาวจรดถึงปลายหางด้านล่าง ซึ่งแถบสีดำแลเด่นสะดุดตามาก เนื่องจากส่วนหลังมีสีคล้ายสีทองเหลือง เกล็ดเป็นมันแวววาวระยิบระยับ เกล็ดมีขนาดเล็ก ปลาชนิดนี้ชอบว่ายอยู่รวมกันเป็นฝูง และทรงตัวอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เป็นปลาที่มีความแคล่วคล่องว่องไวมาก นอกจากนี้ยังเป็นปลาที่มีความทรหดอดทนอีกด้วย ลักษณะเด่นเฉพาะของตัวปลาชนิดนี้มีอีกอย่างคือ มันชอบว่ายเชิดหัวขึ้นสูง ทำให้แลดูคล้ายคนที่มีความหยิ่งยโส โดยเฉพาะแถบสีดำที่บริเวณครีบหางซึ่งมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ยิ่งทำให้แลดูปลาเชิดหัวมากยิ่งขึ้น จัดได้ว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาผู้ดีอีกชนิดหนึ่ง สำหรับสภาพน้ำที่เหมาะสมที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดนี้ควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดมีความเป็นกรดเล็กน้อย ภายในที่เลี้ยงควรจัดเหมือนอยู่ในธรรมชาติ การเลี้ยงไม่ควรเลี้ยงรวมกันต่ำกว่า 6 ตัว เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และชอบกระโดด ดังนั้นจึงควรมีฝาตู้ปิดให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ปลากระโดดออกมา สำหรับแสงสว่างไม่ควรให้สว่างมากจนเกินไป เพราะปลาชนิดนี้ชอบอยู่ในที่ค่อนข้างมืด

การเพาะพันธุ์ปลาเพนกวิน

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลาเพนกวินเป็นปลาที่สามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้ แต่การสังเกตเพศปลาค่อนข้างสังเกตได้ยาก เนื่องจากปลาเพศผู้ และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก นอกจากเมื่อถึงฤดูวางไข่จึงสามารถสังเกตเพศได้ชัด คือ ปลาตัวเมียมีรูปร่างอ้วน และป้อมกว่า ลำตัวมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าปลาเพศผู้

การเพาะพันธุ์ ปลาเพนกวินจัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างเพาะพันธุ์ได้ง่าย และให้ลูกดก ปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ วิธีการเพาะพันธุ์ที่ค่อนข้างได้ผลคือ ปล่อยปลาตัวเมีย 4 - 5 ตัว อยู่รวมกับปลาตัวผู้ 1 ตัว สาเหตุที่ต้องปล่อยปลาตัวผู้เพียงตัวเดียวเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาต่อสู้ และทำร้ายกัน ส่วนสาเหตุที่ปล่อยปลาตัวเมีย 4-5 ตัว เพื่อให้ตัวผู้เลือกจับคู่กับปลาตัวเมียที่พร้อมวางไข่ สำหรับในที่เพาะพันธุ์ควรมีความจุของน้ำไม่ต่ำกว่า 80 ลิตร และควรมีต้นสาหร่ายปลูกไว้ น้ำควรมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ( pH 6.2-6.4 ) แสงสว่างไม่ควรให้มากเกินไป เพราะทำให้ปลาตกใจได้ง่าย เมื่อตัวเมียไข่แก่ก็วางไข่ออกมา ตัวผู้ว่ายน้ำไปผสมน้ำเชื้อ วิธีการสังเกตว่าปลาใกล้วางไข่อาจสังเกตได้โดยปลาตัวผู้ว่ายไล่รัดตัวเมียอยู่ตลอดเวลาโดยปกติปลาเพนกวิน วางไข่ตอนใกล้รุ่ง ไข่ของปลาชนิดนี้ออกสีน้ำตาลอมเหลือง ไข่ใช้เวลาในการฟักเป็นตัวไม่เกิน 2 - 3 วัน และเมื่อลูกปลาอายุได้ 4 - 5 วัน ลูกปลาเริ่มว่ายน้ำได้เอง ลูกปลาเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน เริ่มมีแถบสีดำปรากฏให้เห็นแล้ว ลูกปลาเพนกวินจัดว่าเลี้ยงง่าย และโตเร็วมากหากเลี้ยงอย่างถูกวิธี เท่าที่ผ่านมาพ่อแม่ปลาคู่หนึ่งให้ลูกปลาได้ถึง 2,000 ตัว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน ราคาในตลาดอยู่ในช่วงประมาณคู่ละ 20 - 30 บาท

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเทวดา

ชื่อสามัญ ปลาเทวดา Anglefish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเทวดา Pterophyllum scalare (Schultze, 1823)

ลักษณะทั่วไปของปลาเทวดา

ปลาเทวดามีถิ่นกำเนิดในบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ และประเทศไทยได้นำเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นเวลานานแล้ว ปลาเทวดานั้นมีอยู่ 2 ชนิด (species) ชนิดที่นำมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ได้แก่ Pterophyllum scalare และ P. eimekei (Common anglefish) ซึ่งปัจจุบันได้มีการ

คัดพันธุ์ จนกระทั่งมีหลายสายพันธุ์ (variety) เช่น

  • ปลาเทวดาเงิน (Silver anglefish)
  • ปลาเทวดาดำ (Black anglefish)
  • ปลาเทวดาลายม้าลาย (Zebra anglefish)
  • ปลาเทวดาลายหินอ่อน (Marble anglefish)
  • ปลาเทวดาสีเทา (Gray anglefish)
  • ปลาเทวดาลายดำครึ่งตัว (Half black anglefish)
  • ปลาเทวดาขาว (White or ghost anglefish)
  • ปลาเทวดาทอง (Gold anglefish)
  • ปลาเทวดาลายจุด (Spotted anglefish)

ปลาเทวดาเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่ม Cichlids เช่นเดียวกันกับ ปลาปอมปาดัวร์ และปลาหมอสี ปลาในกลุ่มนี้มีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว และหวงถิ่นอาศัย เมื่อถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์มีการจับคู่กันเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ และแยกตัวออกมาต่างหาก สร้างอาณาเขตของคู่ตน

การเพาะพันธุ์ปลาเทวดา

การคัดพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาเทวดานั้น ต้องให้มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ มีความสมบูรณ์แข็งแรง การแยกเพศของปลาเทวดา สามารถสังเกตได้ง่ายจากลักษณะภายนอก คือ ปลาเพศผู้มีส่วนหัวโหนกนูนกว่าเพศเมีย และมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ถ้าสังเกตลักษณะของติ่งเพศผู้มีลักษณะเรียวแหลมยื่นออกมา ส่วนเพศเมียใหญ่ ป้าน ทู่ ยื่นออกมา ปลาเทวดาเจริญเติบโตพร้อมที่ผสมพันธุ์วางไข่ได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมในการเลือกคู่ผสมพันธุ์เอง การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ที่ยังไม่ได้จับคู่กันนั้น ควรเลี้ยงรวมกันในตู้กระจกขนาดใหญ่ ปูพื้นด้วยกรวดขนาดเล็ก และปลูกพรรณไม้น้ำลงไปด้วย เพื่อสร้างความร่มรื่น และเป็นธรรมชาติ น้ำที่ใช้เลี้ยงอาจเป็นน้ำคลอง แม่น้ำ หรือน้ำบาดาลที่ผ่านการกรอง หรืออาจใช้น้ำประปาก็ได้ แต่ต้องพักไว้ให้คลอรีนระเหยออกหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ใช้แอร์ปั๊มเพิ่มพัดลมในตู้ตลอดเวลา ให้อาหารวันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้อาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง หรืออาหารเม็ดขนาดเล็ก และคอยสังเกตพฤติกรรมการเลือกจับคู่กันเอง การจับคู่เพื่อผสมพันธุ์นั้นสังเกตได้จากปลาตัวผู้ว่ายเคียงข้างตัวเมีย และพยายามกันปลาตัวอื่น สร้างอาณาเขตของตัวเองไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้ แสดงให้รู้ว่าปลาจับคู่พร้อมที่ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว จึงทำการแยกพ่อแม่ปลาคู่นั้นออกมาเพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป

การผสมพันธุ์ ตู้กระจกสำหรับเพาะพันธุ์ปลาเทวดา ควรเป็นตู้ขนาดใหญ่ เช่น ใช้ตู้ขนาด 36 นิ้ว ปูพื้นด้วยกรวดขนาดเล็ก และปลูกพรรณไม้น้ำลงไป ชนิดพรรณไม้น้ำที่แนะนำ คือ อะเมซอน เนื่องจากมีใบกว้างหนา แข็งแรง เหมาะสำหรับเป็นที่วางไข่ ปลาเทวดาเป็นปลาที่ไข่ติดกับวัสดุหากไม่ใส่พรรณไม้น้ำลงไปในตู้ต้องใส่วัสดุสำหรับให้ไข่เกาะติดลงไป เช่น ใส่แผ่นกระจก ท่อPVC หรือแผ่นพลาสติกวางเอียงกับพื้นตู้ ประมาณ 30-60 องศา โดยขนาดของวัสดุที่ใส่ลงไปควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว จึงเหมาะสมสำหรับเป็นที่วางไข่ของปลาเทวดา ในตู้เพาะพันธุ์มีการใช้แเอร์ปั๊มเพิ่มออกซิเจนในน้ำตลอดเวลา ก่อนการผสมพันธุ์วางไข่ พ่อแม่ปลาทำความสะอาดบริเวณที่วางไข่ โดยการอมน้ำแล้วพ่นบริเวณนั้น และเก็บสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น ตะกอนออกจากบริเวณนั้น จากนั้นแม่ปลาวางไข่ติดกับพรรณไม้น้ำหรือแผ่นวัสดุที่วางไว้และตัวผู้ว่ายเข้าไปปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ทันที การผสมพันธุ์วางไข่ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และใช้ครีบอกพัดโบกน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับไข่ หรือหากถูกรบกวนมาก ๆ อาจกินไข่ไปเลย ดังนั้นหากใช้วิธีแยกไข่มาฟักควรทำในช่วงนี้ หรือหากให้พ่อแม่ปลาดูแลต่อไป ควรป้องกันไม่ให้ปลาตื่นตกใจหรือมีสิ่งรบกวน

การฟักไข่ การฟักไข่ปลาเทวดาทำได้ 2 วิธี คือการให้พ่อแม่ดูแลไข่ และการแยกไข่มาฟัก

1 การให้พ่อแม่ดูแลไข่ ได้แก่ การปล่อยให้พ่อแม่ดูแลไข่เอง พ่อแม่ปลาคอยโบกพัดน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับไข่ และเคลื่อนย้ายไข่ไปอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมหากเกิดการเน่าเสียของน้ำในบริเวณนั้น ไข่ฟักออกมาเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง ลูกปลาเมื่อแรกฟักมีตัวใสคล้ายเส้นด้ายเคลื่อนไหวไปมาเกาะติดกันเป็นกลุ่มวัสดุ วิธีนี้มีข้อดีคือ ลูกปลาที่ได้แข็งแรง สะอาดเพราะมีพ่อแม่ปลาคอยช่วยทำให้ฟื้นตัวช้า การวางไข่ครั้งต่อไปช้าตามไปด้วย

2 การแยกไข่มาฟัก ได้แก่ การนำวัสดุที่มีไข่ติดอยู่มาในในตู้ฟักไข่ที่เตรียมไว้ ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ไข่ฟักเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถป้องกันพ่อแม่ปลาบางตัวที่มีพฤติกรรมชอบกินไข่ได้ และพ่อแม่ปลาฟื้นตัวเร็วเพราะไม่ต้องดูแลไข่

การอนุบาลลูกปลา

นำลูกปลาไปอนุบาลในตู้กระจกที่เตรียมไว้ ใส่น้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เพิ่มออกซิเจนโดยใช้ปั๊มลมเบา ๆ ตลอดเวลา ในระยะแรกลูกปลามีถุงไข่สีแดงติดอยู่ที่ท้อง ยังไม่ต้องกินอาหารถุงไข่แดงยุบภายใน 2-3 วัน และลูกปลาเริ่มเคลื่อนที่ โดยลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ และรวมกันเป็นกลุ่ม เริ่มให้อาหารเมื่อลูกปลาอายุ 4-5 วัน โดยให้ไข่แดงต้ม สุกบดละเอียดผสมกับน้ำ หยดลงไปบริเวณกลุ่มของลูกปลา ให้อาหารครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อย ๆ วันละ 4-5 ครั้ง หลังจากนั้น 2 วัน เปลี่ยนให้กินโรติเฟอร์หรืออาร์ทีเมียที่เพิ่งฟักตัวออกมา ในช่วงนี้หากไม่มีโรติเฟอร์หรืออาร์ทีเมีย สามารถให้กินไข่แดงต้มสุกบดละเอียดต่อไปได้ แต่ลูกปลาจะแข็งแรงน้อยกว่าการให้กินอาหารมีชีวิต จากนั้น 3 วัน จึงให้กินไรแดง ลูกปลาเจริญเติบโตเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุได้ประมาณ 45 วัน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเซลฟินมอลลี่

ชื่อสามัญ ปลาเซลฟินมอลลี่ Sailfin molly

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเซลฟินมอลลี่ Poecilia latipinna (Lesueur, 1821)

ลักษณะทั่วไปของปลาเซลฟินมอลลี่

ปลาเซลฟินมอลลี่ (sailfin molly) จัดว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามมากที่สุดในบรรดาปลาในตระกูลปลาสอดทั้งหมด เป็นปลาที่มีความสง่างามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ครีบกระโดงหลัง ซึ่งมีลักษณะแผ่กางออกเป็นแผ่นคล้ายเรือใบ เป็นปลาในตระกูลปลาสอดที่มีครีบกระโดงหลังขนาดใหญ่ และยาวที่สุดเมื่อเวลาแผ่ครีบและหางเต็มที่มีความสวยงามมาก ลำตัวออกสีเหลืองทอง ตามีสีแดงสดใส เกล็ดมีลักษณะเงาแวววาวสะท้อนแสง สีสันของครีบตลอดจนลำตัว และหางเป็นสีน้ำเงินอมเขียวเข้มแล้วค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีส้ม ตรงใต้ท้องมีลวดลายสีส้มขึ้นประปรายตลอดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายหาง และมีจุดสีดำแซมอยู่ทั่วไป ความยาวโตเต็มที่ เพศผู้มีขนาดประมาณ 10 ซม. เพศเมียมีขนาดประมาณ 12 ซม. มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา แม๊กซิโก เท็กซัส ฟอร์ริดา และเวอร์จิเนีย ปลาชนิดนี้จัดว่าเป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง ดังนั้นน้ำที่ใช้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องผสมเกลือในอัตราส่วน เกลือ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 10 ลิตร และถ้าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยครั้งนัก การเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ควรเปลี่ยนถ่ายในทีเดียว ควรมีน้ำเก่าหลงเหลืออยู่ไม่ต่ำกว่า ครึ่งของตู้ และเมื่อเติมน้ำใหม่เข้าควรใส่เกลือตามอัตราส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

การเพาะพันธุ์ปลาเซลฟินมอลลี่

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การจำแนกเพศของปลาเซลฟินมอลลี่ดูได้จากขนาดของลำตัว สีสันของปลา และครีบก้น โดยปลาตัวผู้มีขนาดลำตัวที่เรียวยาวกว่าปลาตัวเมีย ลักษณะสีปลาตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมียโดยเฉพาะส่วนหัว กระโดงบนหลังของปลาตัวผู้ใหญ่และยาวกว่าตัวเมีย ครีบก้นของปลาตัวเมียมีลักษณะบานเหมือนพัด ส่วนครีบก้นของปลาตัวผู้มีลักษณะแหลมเรียวและอยู่แนบกับลำตัว

การเพาะพันธุ์ ปลาในตระกูลนี้จัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างแพร่พันธุ์ได้ง่าย ออกลูกเป็นตัว ปลาตัวเมียสามารถให้ลูกปลาได้คอกละประมาณ 20-80 ตัว ในการเพาะพันธุ์ไม่ควรปล่อยให้ตัวผู้อยู่ร่วมกันหลาย ๆ ตัว เพราะปลาจะทำร้ายกันเอง และเมื่อปลาให้ลูกแล้ว ควรแยกพ่อแม่ปลาออก เพราะมิฉะนั้นปลาอาจกินลูกของตัวเองได้ ในบ่อเพาะพันธุ์ควรปลูกสาหร่าย หรือหาหินมาวาง เพื่อสร้างเป็นโพรงเพื่อให้ลูกปลาใช้หลบภัยได้บ้าง

การอนุบาลลูกปลา

ในช่วงที่ลูกปลายังเล็กอยู่ควรรักษาระดับอุณหภูมิอย่าให้เกินกว่า 24 องศาเซลเซียส ขณะที่ลูกปลายังมีขนาดเล็กควรให้ลูกไรแดงเป็นอาหาร หรืออาจใช้ไข่ต้มจนสุก เอาเฉพาะไข่แดงมาบี้ให้กิน แต่อย่าให้เยอะจนเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเสียได้ ไม่ควรเลี้ยงอยู่กลางแจ้ง เพราะแสงสว่างจะจ้ามากเกินไป หากจำเป็นก็ควรหาแผ่นไม้ หรือกระเบื้องปิดครอบให้มีร่มเงาให้ปลาหลบได้ เนื่องจากปลาชนิดนี้ไม่ชอบแสงสว่างจ้ามาก ๆ

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น

ชื่อสามัญ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Chinese lion head

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Carassius auratus (Linn.)

ลักษณะทั่วไปของปลาทองสิงห์จีน

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ จัดอยู่ในจำพวกปลาสวยงามชนิดหนึ่ง เป็นปลาทองชนิดที่คนนิยมเลี้ยงกันมาก เพราะคนชอบที่วุ้น วุ้นขึ้นหนามากบริเวณส่วนหัวทั้งหมด บางตัววุ้นขึ้นจนปิดตาสนิท ทำให้มองไม่เห็นตาปลา แต่ปลาก็สามารถกินอาหารได้โดยสัณชาตญาณ บางคนไม่เข้าใจเห็นวุ้นปิดตาสนิทหาว่าเป็นปลาตาบอด คนขายต้องอธิบายให้ฟังคนซื้อถึงเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นปลาตาบอดที่วุ้นขึ้นปิดตาสนิทนั้นเป็นลักษณะเด่นของปลา แต่คนที่เข้าใจปลาทองชนิดนี้ เขาชอบกันมากถ้าตัวไหนวุ้นขึ้นปิดตาสนิท ปลาสิงห์จีนหัววุ้นกับสิงห์ชนิดอื่นมองเห็นความแตกต่างกันง่าย คือ ปลาสิงห์จีนหัววุ้นมีวุ้นขึ้นมากกว่าสิงห์ประเภทอื่น บางตัวมีวุ้นขึ้นมากจนว่ายน้ำไม่ไหวหัวทิ่มเพราะหนักวุ้น ลักษณะของสิงห์จีน คือลำตัวสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บริเวณหัวมีวุ้นสีส้มบ้าง แดงบ้าง และบางตัวก็ออกสีขาวแดงมี 2 สี อยู่ในตัวเดียวกัน ลักษณะเด่นก็เหมือนๆ สิงห์ทั่วไป แต่มีข้อแตกต่าง คือ เรื่องวุ้นซึ่งมีมากกว่าสิงห์ชนิดอื่นๆ ลักษณะการดูปลาประเภทสิงห์นั้นสวยหรือไม่สวยส่วนมากแล้ว เขายึดหลักตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้

  1. หลังโค้งหางบานออกพอประมาณต้องได้ฉาก
  2. สีส้มสด
  3. วุ้นหนา วุ้นยิ่งหนายิ่งสวย
  4. ลำตัวได้สัดส่วน

ส่วนในเรื่องลำตัวนั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่บ่อย ๆ ในหมู่นักเลี้ยงปลาด้วยกันว่า ลำตัวสั้นสวยกว่าลำตัวยาว หรือลำตัวยาวสวยกว่าลำตัวสั้น แต่สิ่งที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด คือ ลำตัวสั้นหรือลำตัวยาวก็ได้ แต่ต้องได้สัดส่วน ทำให้สวยได้ไม่แพ้กัน ถ้าเป็นปลาลำตัวยาวปลานั้นต้องอ้วนใหญ่ แกนสันหลัง หาง ครีบทวาร ครีบหน้า และบริเวณหัวต้องใหญ่ได้สัดส่วนด้วย ถ้าเป็นปลาลำตัวสั้น ส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าบริเวณสันหลัง ครีบต่าง ๆ และลำตัวสั้นได้สัดส่วน จึงสรุปได้ว่าทั้งลำตัวสั้น และลำตัวยาวสวยเท่า ๆ กัน แต่สวยไปคนละแบบแล้วแต่คนนิยม สาเหตุที่คนส่วนมากชอบปลาลำตัวสั้นมากกว่าปลาลำตัวยาวนั้น เพราะปลาลำตัวยาวส่วนมากแล้วบริเวณช่วงหลังไม่ค่อยโค้ง เพราะช่วงยาวจากโคนหัวจรดปลายหางอาจเว้ามากหรือนูนจนเกินไป แต่ถ้าหากเขาพบปลาที่หลังโค้งจากโคนหัวจรดปลายหาง และได้สัดส่วนแล้วเขารู้ว่าปลาทั้งสองอย่างนั้นสวยไม่แพ้กันเลย สิงห์จีนที่นำออกขายตามร้านนั้นหาสวยครบทุกส่วนนั้นยากมาก บางตัวมีวุ้นสวยแต่หางใช้ไม่ได้ หรือบางตัวหางใช้ได้ วุ้นใช้ได้แต่หลังใช้ไม่ได้ เพราะปลาผสมพันธุ์ออกมาหนึ่งคอกนั้นหาสวยหมดทุกตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ หนึ่งคอกนั้นอย่างมากติดตัวสวย ๆ ครบทุกส่วนได้ไม่ถึง 20 % นอกจากนั้นแล้วเป็นปลาพอใช้ได้ และใช้ไม่ได้เลย คือ ประเภทปลาหางเสีย เพราะฉะนั้นประเภทสิงห์จึงมีราคาแพงกว่าปลาทองชนิดอื่น ปลายิ่งมีราคาแพงมากเท่าไรคนซื้อจะมองหา ผู้ที่เลี้ยงปลาประเภทนี้ได้ดีนั้น ต้องขยันผสมพันธุ์ปลาบ่อย ๆ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ปลาออกมาหนึ่งคอกมีปลาที่จัดว่าใช้ได้ไม่กี่ตัว ถ้าเราผสมบ่อยครั้งก็สามารถเก็บปลาที่ดีที่สุดไว้ ส่วนปลาที่ไม่สวยนั้น เราเก็บไว้เลี้ยงโต และนำออกขายก่อน เพราะปลาที่ไม่สวยนั้นยิ่งโตเท่าไหร่ ราคามีแต่คงที่หรือไม่ก็แพงขึ้นกว่าเก่าเล็กน้อย จึงทำให้เราเสียเวลาเลี้ยง และสิ้นเปลืองอาหารโดยเปล่าประโยชน์ เราควรประหยัดเวลาโดยการผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา และเก็บลักษณะสวย ๆไว้เลี้ยงจนโต ทำให้เรามีปลาสวยอยู่ตลอดเวลา

การเพาะพันธุ์ปลาสิงห์จีนหัววุ้น

  1. เลือกเพศเมียที่จัดว่าสวยที่สุด จำนวนหนึ่งตัว และเพศผู้จำนวนหนึ่งตัว ลักษณะแข็งแรง
  2. นำปลาทั้งสองเพศใส่ลงไปในภาชนะที่เตรียมสำหรับผสมพันธุ์ และเวลาผสมพันธุ์ปลานั้นควรทำในเวลากลางคืน
  3. ปลาทั้งสองเพศก่อนนำลงผสมพันธุ์ควรแยกไว้คนละที่ก่อนประมาณ 3 วัน เมื่อใส่ปลาลงในอ่างเดียวกันแล้วทำให้ปลามีปฏิกิริยาในการผสมพันธุ์ได้ไวขึ้น
  4. นำสาหร่ายเทียม (เชือกฟางพลาสติก) ฉีกออกเป็นฝอย ๆ แล้วนำก้อนหินถ่วงให้จม เพื่อที่ไข่จะได้ติดตามสาหร่ายเทียม การใช้สาหร่ายเทียมในการเพาะพันธุ์เป็นการป้องกันไข่ปลาเสียได้ดีมาก เพราะสาหร่ายเทียมป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสีย
  5. ปลาผสมพันธุ์กันในเวลาใกล้สว่าง และเมื่อปลาไข่เสร็จแล้วต้องรีบนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออก ถ้าไม่รีบนำออกแล้วปลาจะกินไข่ตัวเอง
  6. เมื่อปลาไข่เสร็จแล้วควรใส่ยาลงไปในภาชนะไข่ปลา 1 เม็ด เพื่อป้องกันเชื้อรา
  7. ภาชนะที่มีไข่ปลาควรได้รับแสงแดดพอเหมาะและใช้เวลา 3 วัน ในการฟักออกเป็นตัว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาปอมปาดัวร์

ชื่อสามัญ ปลาปอมปาดัวร์ Discus

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาปอมปาดัวร์ Symphysodon aequifasciatus Pellegrin, 1904

ปลาปอมปาดัวร์ (Discus) เป็นปลาน้ำจืดแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ลำตัวมีลวดลายสวยงามมากเป็นพิเศษนักเลี้ยงปลานิยมเพาะพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากรูปร่างและสีสันคล้ายปลาทะเลไมมีผิดขนาดลำตัวโตเต็มที่วัดได้ไม่เกิน 7 นิ้ว ประเภทของปลาปอมปาดัวร์ จำแนกได้ 2 ประเภท

1 ปลาปอมปาดัวร์ 9 แถบ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon aequifasciatus Pellegrin, 1904 มีลายเส้นสีดำจาง ๆ พาดลำตัวปลา คือ

  • กรีน ดิสคัส (Green discus) เป็นปลาปอมปาดัวร์ 5 สี อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางลุ่มน้ำอะเมซอน ลำตัวสีน้ำตาลเคลือบเขียวไม่มีลวดลายแต่ส่วนหัวมีลายสีเขียวพาดเป็นมันวาว จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม จึงทำให้ราคาถูก
  • บราวน์ ดิสคัส (Brown discus) เป็นปลาปอมดัวร์ห้าสี แต่อาศัยอยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำอะเมซอน ลำตัวสีน้ำตาลเข้มกว่าปลาปอมปาดัวร์ชนิดอื่นๆ บางตัวไม่มีลวดลาย แต่มีลักษณะคล้ายกับพวก Green Discus สีสันบนลำตัวเท่านั้น ราคาก็ค่อนข้างถูก
  • บลู ดิสคัส (Blue discus) เรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาปอมปาดัวร์ 7 สี พื้นเพอยู่แถบลุ่มน้ำอะเมซอน ลำตัวมีลักษณะสีน้ำตาลอมแดง เส้นลวดลายเป็นแถวขวางตามลำตัว หัว ครีบ ท้อง ตลอดทั้งครีบหลัง ซึ่งเป็นปลาชนิดทีนิยมกันแพร่หลายในหมู่นักเล่นปลา ราคาค่อนข้างสูง

2 ปลาปอมปาดัวร์ 3 แถบ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon discus Heckel, 1840 ลักษณะลำตัวมีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดขวางลำตัวประมาณ 3 แถบ สีสันสวยงาม สะดุดตากว่าพวกแรก เนื่องจากบริเวณส่วนปลายครีบหลังมีสีแดงเข้มเป็นพิเศษจนสามารถแยกออกได้ 2 ชนิด

  • เรด ดิสคัส (Red discus) นักนิยมเลี้ยงปลาให้สมญานามว่า ปลาปอมปาดัวร์แดง เป็นปลาที่มีพื้นเพมาจากลุ่มน้ำ Rio Trombetas และ Rio Negre ลักษณะลำตัวสีแดงมีส่วนคล้ายปอมปาดัวร์ 7 สี
  • ไพน์แอปเพิ้ล ดิสคัส (Pineapple discus) ปลาปอมปาดัวร์ ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำ Rio Abacaxis มีสัดส่วนคล้ายกับพวก เรด ดิสคัส ยกเว้นบางส่วนของสีสัน ซึ่งปลาชนิดนี้มีสีน้ำเงินอมเขียว สวยงามสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

พฤติกรรมของปลาปอมปาดัวร์

ปลาปอมปาดัวร์ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ตามแหล่งน้ำที่สภาพเป็นกรดอ่อน ๆ มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-32 องศาเซลเซียส มีนิสัยชอบหลบซ่อนตามพุ่มไม้และวัสดุต่าง ๆ ที่จมอยู่ใต้น้ำ คุณสมบัติพิเศษสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์ ปลาปอมปาดัวร์ จับกันเป็นคู่ วางไข่ ระยะเวลานี้เพศผู้และเพศเมียค่อนข้างดุร้าย ตกใจง่าย การกินอาหารชอบกินอาหารจำพวก ไข่กุ้ง ลูกไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมีย

การเพาะพันธ์ปลาปอมปาร์ดัวร์

การคัดเลือกปลาปอมปาดัวร์มาทำพ่อแม่พันธุ์ผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ต้องการพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ สวยงาม รวมถึงมีลักษณะที่ดีมาทำพันธุ์อีกด้วย เพื่อที่ได้ลูกปลาที่ดีตามต้นตระกูล ดังนั้น ผู้เพาะควรคำนึงถึงจุดประสงค์ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ดังนี้

  1. ปลาที่นำมาทำพ่อแม่พันธุ์ต้องอวัยวะทุกส่วนครบสมบูรณ์ ไม่มีชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งขาดหายไป หรือไม่พิการ
  2. การเลือกพ่อแม่พันธุ์ ต้องสนใจเรื่องสีสันของแต่ละตัว ปลาที่สีสันสวย มีลายงดงาม คมสันชัดเจนควรนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์
  3. ลักษณะลวดลายของพ่อแม่พันธุ์ไม่ควรกว้างหรือใหญ่จนเกินไป อันเป็นเหตุให้ลูกปลาที่เกิดใหม่มีปัญหาในด้านการย้อมสี ซึ่งอาจทำให้สีที่ย้อมไม่ได้คุณภาพ และเปรอะเปื้อน ไม่งดงามแก่ตัวปลา
  4. ไม่ควรนำพ่อแม่พันธุ์จากครอกเดียวกันมาผสม เพื่อป้องกันระบบสายเลือดชิด เนื่องจากทำให้ยีนด้อย ปรากฏในรุ่นลูกได้
  5. พ่อแม่พันธุ์ ควรมีขนาด 4-5 นิ้ว อายุไม่น้อยกว่า 8 เดือน ถ้าหากนำปลาที่มีอายุน้อยหรือขนาดเล็กทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ ผลที่ได้ คือ คุณภาพของไข่ไม่ค่อยดี ลูกที่เกิดขึ้นใหม่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้าหากปลาที่นำมามีอายุมากก็ไม่เหมาะที่ใช้ทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ (การสังเกตปลาที่มีอายุมาก คือ ขอบตาดำ และโปนออกจากเบ้าตา)

การเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์

ขั้นตอนที่ 1 วิธีการจับคู่ผสม โดยการนำปลาพ่อแม่พันธุ์มาเทียบกันก่อนการเลือกคู่ หลังจากนั้นสังเกตลักษณะอาการของพ่อแม่พันธุ์ วิธีการสังเกตพฤติกรรมปลาว่าเข้ากันได้หรือไม่นั้น ผู้เลี้ยงนิยมใช้ตะแกรงกั้นกลางตู้ปลาระหว่างพ่อแม่พันธุ์ ถ้าปลาทั้ง 2 แสดงอาการคล่องแคล่วว่องไว สีสันปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น หมายถึง ปลาทั้งคู่เข้ากันได้ ตรงกันข้ามถ้าปลาเห็นกันแล้วว่ายเข้าใส่ทำร้ายกัน ลักษณะเช่นนี้ควรปล่อยไว้สักพักหนึ่ง แต่ถ้าปลาทั้งคู่เกิดอาการทำร้ายกันเช่นเดิม ผู้เพาะเลี้ยงควรเปลี่ยนปลาตัวใดตัวหนึ่งออกจนกว่าได้ปลาที่มีนิสัยตรงกัน เหตุผลดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาทั้งคู่ได้รับบาดแผลหรือบอบช้ำขณะการผสมพันธุ์

ขั้นตอนที่ 2 การผสม และวางไข่ เมื่อเห็นว่า พ่อแม่พันธุ์มีนิสัยเข้ากันได้ดีก็ให้นำตะแกรงที่กั้นอยู่ออก และคอยสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งในระยะนี้พ่อพันธุ์ว่ายเคลียคลอรัดแม่พันธุ์ ถ้าแม่พันธุ์พร้อมอวัยวะเพศหรือท่อนำไข่ยื่นยาวออกมาเพื่อที่วางไข่

ขั้นตอนที่ 3 การดูแลไข่ปลาเมื่อพ่อแม่พันธุ์ผสม และวางไข่เรียบร้อยแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงควรนำตะแกรงครอบโดมที่เตรียมไว้ ครอบไข่ที่ติดอยู่กับโดม ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้พ่อแม่พันธุ์ว่ายน้ำเข้ามากินไข่ปลาในตอนที่มีอาการตกใจ หวงลูก หรือหิว ระยะนี้ก็ควรแยกพ่อแม่พันธุ์ไว้ต่างหาก โดยใช้ตะแกรงตู้ปลาแยก เพื่อป้องกันการผสมเป็นครั้งที่ 2 และ3 เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผลที่ตามมา คือ พ่อแม่พันธุ์ไม่ยอมเลี้ยงลูกจากไข่ครอกแรก และยังอาจทำลายลูกหรือกินลูกได้ เพราะเหตุที่พ่อแม่พันธุ์ให้ความคุ้มครองลูกปลาที่เกิดใหม่จากครอกที่ 2 ก็เป็นได้

ขั้นตอนที่ 4 จากที่ผู้เพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ และใช้ตะแกรงครอบโดยเสร็จแล้วน้ำที่เพาะเลี้ยงอาจมีเชื้อราต่าง ๆ อาศัยอยู่ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงควรใช้ยาปฏิชีวนะละลายกับน้ำใส่ลงในตู้เพาะเลี้ยง เพื่อป้องกันเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นกับไข่ปลา และลูกปลา โดยใช้ยาคลอแรมเฟนิคลอหรือเตตร้าซัยคลิน อัตราส่วน 1-3 แคปซูล ผสมกับน้ำแล้วเทใส่ตู้เพาะเลี้ยงขนาด 30x16x16 ลูกบาศก์นิ้ว ตัวยาพวกนี้ช่วยรักษาไข่ปลาไม่ให้ถูกรบกวนจากเชื้อราและแบคทีเรียได้

ขั้นตอนที่ 5 ระยะเวลาฟักออกเป็นตัว ไข่ปลาปอมปาดัวร์มีลักษณะกลมสีน้ำตาลอมแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1-1.5 มิลลิเมตร ไข่ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 2-3 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการฟักอยู่ระหว่าง 27-30 องศาเซลเซียส ไข่ที่ได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีดำ จนกระทั่งฟักออกเป็นตัวอ่อน สำหรับไข่ที่ไม่ได้รับการผสมหรือไข่เสีย สีเริ่มเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีเขียว

ขั้นตอนที่ 6 การอนุบาลไข่ปลาในระยะนี้จัดได้ว่าเป็นระยะที่ไข่มีความอ่อนแอ และเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด เพราะไข่ปลาอาจได้รับอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ หรือถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงควรเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี ควรเปลี่ยนน้ำออกประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในตู้ ทุก ๆ วัน ข้อระมัดระวังผู้เพาะเลี้ยงไม่ควรให้อาหารจำพวกอาร์ทีเมีย หนอนแดง ลูกน้ำ จนเกินความต้องการ เนื่องจากสัตว์จำพวกนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อไข่ปลาปอมปาดัวร์ได้เหมือนกัน

การอนุบาลลูกปลา ช่วงนี้ลูกปลาปอมปาดัวร์อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ อัตราการตายสูงทำให้ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลอย่างทนุถนอม รักษาชีวิตลูกปลาให้อยู่รอดเป็นพิเศษ โดยเทคนิคดังต่อไปนี้

  1. ไข่ปลาปอมปาดัวร์ที่ได้รับการผสมหรือเป็นไข่ที่สมบูรณ์เต็มที่ฟักออกเป็นตัวภายใน 3-4 วัน ซึ่งระยะนี้ลูกปลาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกปลาไม่ยอมเคลื่อนไหว ส่วนเรื่องอาหารไม่จำเป็นต้องให้เนื่องจากลูกปลาได้รับสารอาหารจากถุงไข่แดงที่ติดมา แต่ข้อสำคัญควรปรับอุณหภูมิของน้ำในตู้เพาะเลี้ยงให้อยู่ในช่วงประมาณ 29-31 องศาเซลเซียส โดยใช้ฮีทเตอร์หรือหลอดไฟทังสเตนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ลูกปลา
  2. ต่อจากนั้นประมาณ 3-4 วัน ถุงไข่แดงที่ติดกับผนังส่วนท้องถูกย่อยสลายหมดไป ลูกปลาเริ่มมีการเคลื่อนย้ายว่ายเข้าไปหาพ่อแม่ ตามธรรมชาติผู้ที่เป็นพ่อแม่ให้ความอบอุ่นแก่ลูก สำหรับพ่อแม่ปลาปอมปาดัวร์ให้ความอบอุ่นแก่ลูกด้วยวิธีการอมลูกปลาไว้ในช่องปากสักพักหนึ่ง แล้วก็พ่นลูกปลากลับไปอยู่ที่โดมตามเดิม เหตุผลที่เป็นเช่นนี้พ่อแม่ปลาคงคิดว่าบริเวณโดมปลอดภัยสำหรับลูกปลา และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ลูกปลาอาศัยเกาะกินเมือกที่พ่อแม่ขับออกมาเป็นอาหาร ในตอนนี้ลำตัวของพ่อแม่ปลามีสีดำ ทำให้มองไม่เห็นลวดลายบนลำตัว
  3. การเพิ่มระดับน้ำ หลังจากลูกปลาทยอยฟักออกมาเป็นตัว ผู้เพาะเลี้ยงควรเติมน้ำให้สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องพยายามไม่ให้พ่อแม่ปลาตื่นตกใจได้ การเพิ่มระดับน้ำควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการเพิ่มวันละ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในตู้ การที่ทำเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในตู้เสีย และยังช่วยให้ลูกปลาสามารถปรับตัวได้จนกระทั่งระดับน้ำมีความสูงประมาณ 14-18 นิ้ว ผู้เพาะเลี้ยงจึงดูดน้ำออกตามปกติ ขณะถ่ายน้ำลูกปลามักติดออกมาด้วย ฉะนั้น ต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ผู้เลี้ยงบางท่านนิยมใช้มือปิดปลายสายยางขยับมือเบา ๆ เพื่อไม่ให้ลูกปลาเล็ดลอด แต่สำหรับกรณีที่ใช้วิธีนี้ต้องพยายามตักลูกปลาลงคืนตู้
  4. เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 7 วัน ก็เริ่มให้อาหารจำพวกไรแดงในปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งและไม่ควรให้อาหารในเวลาที่ลูกปลาหิวจัด เพราะทำให้ลูกปลาท้องอืด

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาทอง

ชื่อสามัญ ปลาทอง Goldfish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทอง Carassius auratus auratus (Linnaeus, 1758)

ปลาทองมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและได้มีการนำเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ในประเทศไทย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการคัดพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีลักษณะ และสีสรรแปลกออกไป พันธุ์ปลาทองที่ได้รับความนิยมในตลาดปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์หัวสิงห์ (Lion head) ออแรนดา (Oranda) เกล็ดแก้ว (Pearl scale) ตาโปน (Telescope Eye) ริวกิ้น (Ryukin) ตาลูกโป่ง (Bubble eye) และชูบุงกิ้น (Shubunkin) เป็นต้น

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง

บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ถังไฟเบอร์ ตู้กระจก ฯลฯ ทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง คือ บริเวณที่แสงแดดส่องได้บ้างในเวลาเช้าหรือเย็น หากเป็นที่โล่งแจ้งต้องทำหลังคาหรือร่มเงาให้แสงส่องลงได้เพียง 25-40% บ่อที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะทำให้สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำ และแพลงค์ตอนพืชให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมทำให้น้ำในบ่อใสสะอาดอยู่เสมอเหมาะกับความเป็นอยู่ของปลา พื้นที่บ่อไม่จำกัด ใส่น้ำลึก 30-70 เซนติเมตร ขึ้นกับชนิดปลา ถ้าเป็นปลาทองสายพันธุ์หัวสิงห์ก็ใส่น้ำตื้น ส่วนพันธุ์ออแรนดาสามารถใส่น้ำลึกได้ ให้อากาศผ่านหัวทรายตลอดเวลา บ่อขนาด 4 ตารางเมตร น้ำลึก 70 เซนติเมตร ใส่หัวทรายให้อากาศแรง ๆ 2-3 หัว ปล่อยพ่อแม่ปลาในอัตราส่วน เพศผู้ต่อเพศเมีย เท่ากับ 2:3 ความหนาแน่น 6 ตัว/ตารางเมตร หรือปริมาตรน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์น้ำหนักรวม 2-2.5 กิโลกรัม

อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ อาหารธรรมชาติ ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไส้เดือนแดง หรืออาร์ทีเมีย อาหารมีชีวิตเหล่านี้จะทำให้ปลาโตเร็ว และปลากินได้ตลอดเวลา แต่การจัดเตรียมหรือจัดหาอาจมีความยุ่งยากในบางพื้นที่

อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารเม็ดปลากินพืชหรืออาหารเม็ดปลาดุกเล็ก โดยอาหารเม็ดปลาดุกเล็กจะดีกว่า เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า สามารถเลี้ยงปลาได้เจริญเติบโตดี และมีสีสรรสวยงาม การให้อาหารให้วันละ 2-3 % ของน้ำหนักปลา เช่น มีปลาทั้งหมดหนัก 500 กรัม ให้อาหารเม็ดวันละ 10-15 กรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น

น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทองควรเป็นน้ำที่สะอาด ใช้น้ำบาดาล น้ำจากแม่น้ำ หรือน้ำประปาที่ใสถังเปิดฝา ให้คลอรีนระเหยออกอย่างน้อย 3 วัน มี pH ประมาณ 6.5-7.5 ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงจำเป็นต้องมีระบบเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาตลอดเวลา ความกระด้าง 75-150 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเป็นด่าง 75-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร มีการดูดตะกอนก้นบ่อออกทุก ๆ 3 วัน แล้วเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม การเลี้ยงปลาทองไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย เพราะทำให้ปลาช้ำ และเกิดโรคง่าย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ 3 เดือน/ครั้ง ในปริมาณ 25-50% ของน้ำทั้งหมด และหากน้ำในบ่อมีคุณภาพไม่ดี ก็ให้ทำการล้างบ่อ นำน้ำเก่าจากบ่ออื่นมาเติมในปริมาณ 30% และใส่น้ำใหม่เพิ่มไปอีก 70% การไม่เปลี่ยนน้ำนาน ๆ แล้วเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ปลาวางไข่เป็นอย่างดี

การเพาะพันธุ์ปลาทอง การเพาะพันธุ์ปลาทองที่ง่าย และประหยัด คือ การใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยการปล่อยให้พ่อแม่ปลารัดกันเองในบ่อผสมพันธุ์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลาทองเจริญพัฒนาจนกระทั่งมีความสมบูรณ์เพศ เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน น้ำหนัก 30 กรัม ก็สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว แต่แม่ปลาขนาดเล็กให้ไข่น้อย และไข่มีขนาดเล็ก การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ควรตรวจสอบลักษณะรูปร่างให้มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์สมบูรณ์ แข็งแรง มีครีบตั้งแข็งไม่ฉีกขาด มีเกล็ดเป็นเงางาม และตรวจสอบความสมบูรณ์เพศดังนี้

เพศผู้ ในฤดูผสมพันธุ์บริเวณแผ่นปิดเหงือก (operculum) และด้านหน้าของครีบหูมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดสิว เรียกว่า pearl organ เกิดขึ้น เวลาสัมผัสจะรู้สึกสากมือ

เพศเมีย มีรูปร่างกลม และป้อมกว่าเพศผู้ ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เต็มที่พร้อมผสมพันธุ์นั้น ส่วนท้องอูมใหญ่ และอ่อนนิ่ม บริเวณก้นบวม และมีสีแดงเรื่อ ๆ แม่ปลาที่ใช้ไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปีครึ่ง เนื่องจากแม่ปลาที่มีอายุมากเกินไป ความสามารถในการวางไข่น้อยลง

การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อเพาะพันธุ์ปลาทอง ได้แก่ บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์นั่นเอง ลักษณะไข่ของปลาทองเป็นไข่ติด ไข่ปลาทองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร เนื่องจากเป็นไข่ติด จึงต้องมีการเตรียมวัสดุยึดเกาะ วัสดุดังกล่าวเรียกว่ารังเทียม ได้แก่ การน้ำพรรณไม้น้ำ เช่น สาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก มามัดรวมกันเป็นกำ กำละ 10-15 ต้น หรือผักตบชวาที่รากยาว นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ นอกจากนี้อาจใช้เชือกฟางซึ่งตัดให้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ฉีกให้เป็นฝอยมัดตรงกลางเรียกว่ารังเทียม นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถนำรังเทียมที่ทำด้วยเชือกฝางกับมาใช้ได้หลาย ๆ ครั้ง การใส่รังเทียมลงในบ่อเพาะเป็นการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ นอกจากนี้ในบ่อเพาะพันธุ์ต้องมีการเพิ่มออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อใส่รังเทียมไปในตอนเย็น ปลามักวางไข่ในตอนเช้ามืดของอีกวัน โดยปลาตัวผู้เริ่มไล่ตัวเมีย และใช้หัวดุนที่ท้องของปลาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ปลาตัวเมียปล่อยไข่เป็นระยะ ๆ ในเวลาเดียวกันนั้น ปลาตัวผู้ก็ปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่กระจายติดกับรังเทียม แม่ปลาวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง วิธีการตรวจสอบอย่างง่าย ๆ คือ หลังจากใส่รังเทียมในตอนเย็น สามารถตรวจสอบการวางไข่ในตอนเช้า หากพบว่าแม่ปลามีการวางไข่ให้เก็บรังเทียมไปฟักในถังฟักไข่ ปลาทองสามารถวางไข่ได้ทั้งปี ดังนั้นจึงควรใส่รังเทียมลงไปทุกอาทิตย์ นอกจากนี้แม่ปลาทองมักวางไข่มากในฤดูหนาว ซึ่งปลาอาจมีการผสมพันธุ์วางไข่ได้ทั้งวันในช่วงนี้ จึงต้องนำรังเทียมไปเติมในบ่อ และเก็บไข่ไปฟักเป็นระยะ

การฟักไข่ นำรังเทียมที่มีไข่เกาะติดไปฟักในบ่อฟักไข่ ซึ่งอาจใช้ บ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์ โอ่งหรือกะละมังพลาสติกก็ได้ ถ้าใช้ถังไฟเบอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ใส่น้ำลึก 50-60 เซนติเมตร สามารถใช้ฟักไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง ให้อากาศตลอดเวลา ไข่ปลาทองฟักออกเป็นตัวภายใน 2-4 วัน โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเล็กมาก ตัวใส เกาะติดกับรังไข่ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจึงว่ายน้ำออกจากรังไข่ และว่ายน้ำเป็นอิสระ ลักษณะลำตัวมีสีเข้มขึ้น เมื่อนำรังเทียมออกจากบ่อในระยะนี้ แล้วอนุบาลในบ่อเดิมต่อไป หรืออาจย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อใหม่ก็ได้

การอนุบาลลูกปลาทอง

ลูกปลาทองที่ฟักในระยะแรกเริ่มยังไม่กินอาหาร เนื่องจากยังใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่กับหน้าท้องได้ เมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงไข่แดงยุบ จึงเริ่มกินอาหาร อาหารในระยะแรก คือ ไข่แดงต้มสุกบดละเอียด ละลายน้ำสาดให้กินวันละ 3-4 ครั้ง ลูกปลา 100,000 ตัว ให้ไข่แดงประมาณวันละ 1 ฟอง เมื่อลูกปลาอายุ 1 สัปดาห์ ควรเสริมไรแดงให้ลูกปลากิน ลูกปลาจึงเจริญเติบโตได้รวดเร็ว และแข็งแรงสมบูรณ์หรือให้ไรแดงตั้งแต่วันที่ 3 เลยก็ได้ เมื่อลูกปลาอายุ 1 เดือน จึงทำการคัดขนาด และย้ายบ่อ โดยคัดปลาที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันไปอยู่ในบ่อใหม่ และให้อาหารเม็ดปลาดุกเล็กหรืออาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง เป็นต้น เมื่อลูกปลาทองมีอายุประมาณ 1.5-2.5 เดือน จึงริ่มเปลี่ยนสี ช่วงนี้ให้ทำการคัดปลาที่มีลักษณะสวยงามถูกต้องตามสายพันธุ์เพื่อเลี้ยงไว้ต่อไป ส่วนปลาที่เหลือนำไปเลี้ยงรวมกันอีกบ่อ เพื่อเป็นปลาทองที่จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า สำหรับปลาที่พิการ และถูกคัดทิ้ง จะนำไปจำหน่ายเป็นปลาเหยื่อ

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on