รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พันธุ์ปลา ลักษณะของปลาแต่ละสายพันธุ์ รวมสายพันธุ์ปลาไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงาม หรือปลาเศรษฐกิจ สายพันธุ์ปลาทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป เพื่อคุณผู้อ่านจะได้รู้ถึงมาตรฐานสายพันธุ์ของปลา แต่ละสายพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร จะได้เลือกมาเลี้ยงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการ หรือสำหรับคนที่เลี้ยงอยู่แล้วก็จะได้เลี้ยงอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขที่สุดทั้งคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยงค่ะ

Written by on

ปลาเสือตอ

ชื่อสามัญ ปลาเสือตอ Tiger fish , Siamess tigerfish , Gold datnoid

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเสือตอ Datnioides undecimradiatus (Roberts & Kottelat, 1994)

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอ

ปลาเสือตอเป็นปลาในวงศ์ Family Lobotidae ซึ่งปลาในวงศ์นี้ ในแหล่งน้ำจืดของประเทศไทย พบเพียง 2 ชนิด คือ ปลาเสือตอ และปลากระพงลาย ปลาทั้งสองชนิดมีรูปร่างคล้ายกันมากต่างกันที่ลายบนตัวปลาซึ่งในปลาเสือตอมีเส้นลายดำพาดขวางประมาณ 6 แถบ แต่ในปลากระพงลายเส้น ลายดำมีถึง 8-10 แถบ และสีของปลาเสือตอเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ส่วนของปลากระพงลาย เป็นสีเงินอมเทา ปลาเสือตอเป็นปลาที่มีรูปร่างค่อนข้างแปลก หัวแหลมท้ายกว้าง ลำตัวค่อนข้างลึกแบนข้าง ลำตัวสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน จุดเด่น คือ มีลายดำพลาดขวางลำตัว 6 ลาย จะงอยปากยื่นยาว ปากกว้างสามารถยืดหดได้ ดวงตากลมมีขนาดใหญ่ ส่วนหัวลาดลงเป็นปลายแหลม และมีครีบ 7 ครีบ ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแหลมแข็งแรง 12 อัน ครีบท้อง 1 คู่ อยู่ใต้ครีบอก ครีบก้นเป็นหนามแข็ง 3 อัน และส่วนที่เหลือเป็นก้านครีบอ่อน ครีบหางมีลักษณะกลมแบบพัด ในแหล่งน้ำธรรมชาติพบมีความยาวประมาณ 40 ซม. สำหรับปลาเพศผู้หรือเมียค่อนข้างดูยาก

ปลาเสือตอที่พบในประเทศไทยมีลายบนตัวแตกต่างกันเป็น 2 พวก โดยพวกแรกมีลายสีดำที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่ของเส้นดำกลางตัวกว้างพอ ๆ กับส่วนของสีพื้น ซึ่งเป็นสีอ่อน มักรู้จักในชื่อเฉพาะว่า "ปลาเสือตอลายใหญ่" และอีกชนิดหนึ่งลักษณะเส้นของลายดำที่พาดแต่ละเส้นมีขนาดเล็ก โดยเล็กกว่าชนิดลายใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น ปลาลายเส้นเล็กนี้เป็นปลาที่พบทั่วไปเป็นส่วนใหญ่เรียกว่า "ปลาเสือตอลายเล็ก" ตามธรรมชาติปลาเสือตอชอบหากินอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ 2-3 เมตร ไม่ชอบที่มีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาแน่น แต่ชอบอยู่ในที่มีเสาหลัก ต่อไม้ใต้น้ำ อุปนิสัยคอยจ้องจับเหยื่อโดยแฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ซึ่งการชอบอาศัยอยู่ที่ตอไม้นี่เอง จึงถูกเรียกว่าปลาเสือตอ อาหารของปลาเสือตอ ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก และลูกกุ้ง การกินอาหารของปลาเสือตอโดยการพุ่งเข้าฮุบเหยื่ออย่างว่องไว ขณะที่กินอาหารปลาจะมีสีที่สดใส และมักกางหนามของครีบหลังตั้งขึ้น เป็นปลาที่มีประสาทตาไว คอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ ปลาเสือตอเป็นปลาที่รักสงบไม่ก้าวร้าวสามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายตัว และสามารถเลี้ยงปนกับปลาอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกันได้ ปลาเสือตอในภาคกลาง ปัจจุบันนี้ได้ลดจำนวนลงมาก และกำลังจะสูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่ง

ปลาเสือตอที่พบในแหล่งน้ำทางภาคอีสาน เป็นปลาเสือตอลายเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius undecimraciatus หรือในชื่อเรียกที่รู้จักในตลาดปลาสวยงามว่า "เสือตอลายเล็ก" พบมากในแม่น้ำโขงแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร ในแม่น้ำมูล มีจำนวนค่อนข้างมาก ราคาซื้อขายขนาดเล็ก 2 นิ้วฟุต ตัวละ 20-50 บาท

ปลาเสือตอลายใหญ่ และเสือตอลายคู่ (ลาย 7 ขีด) ปลาเสือตอทั้ง 2 ชนิด นี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศเขมร เป็นปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ทะเลสาบในประเทศเขมร โดยมีพ่อค้าคนกลางเก็บรวบรวม ปลาเสือตอทุกขนาดลำเลียงเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขายส่งต่อไปยังต่างประเทศทั่วโลกเป็นสินค้าปลาสวยงามนิ้วละ 60-100 บาท

การแพร่กระจาย

การแพร่กระจายของปลาเสือตอ มีชุกชุมบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีพบที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง ส่วนในต่างประเทศพบที่ กัมพูชา สุมาตรา พม่า บอร์เนียว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอ

ปลาเสือตอสามารถวางไข่โดยวิธีธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดฮอร์โมนเข้าช่วย ช่วงการวางไข่ประมาณเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ปลาเสือตอเพศผู้มีขนาดโตเต็มวัยเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม ส่วนปลาเสือตอเพศเมียขนาด 800 กรัม ก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ไข่ปลาเสือตอเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 14-17 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 29 องศาเซลเซียส และถุงอาหารยุบภายในเวลา 2-3 วัน อาหารที่เหมาะสมของลูกปลาเสือตอวัยอ่อนควรเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก เช่น โรติเฟอร์ในระยะ 3-10 วันแรก และใช้ไรแดงเลี้ยงอนุบาลจนได้ขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไป จึงใช้ หนอนแดง อาร์ทีเมียขนาดใหญ่ หรือลูกปลาขนาดเล็กให้กินเป็นอาหาร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาก้างพระร่วง (ปลากระจก ปลาผี)

ชื่อสามัญ ปลาก้างพระร่วง (ปลากระจก ปลาผี) Glass sheatfish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาก้างพระร่วง (ปลากระจก ปลาผี) Kryptopterus bicirrhis (Valenciennes, 1840)

ลักษณะทั่วไปขอองปลาก้างพระร่วง

ปลาก้างพระร่วงเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ไม่มีเกล็ด รูปร่างด้านข้างแบนมาก ลำตัวยาวเรียว ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียก ปลาก้างพระร่วง ปลากระจก ภาคใต้เรียก ปลาบาง ปลาผี ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ คือ เนื้อปลามีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน ลำตัวยาวแบนข้างมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาว และชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็ก และสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต เฉพาะส่วนของหัว และกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ปลาก้างพระร่วงขนาดโตเต็มที่ประมาณ 10 – 15 ซม. ขนาดเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 8 – 10 ซม. สูงสุดไม่เกิน 15 ซม. อุปนิสัย เป็นปลาที่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ชอบน้ำค่อนข้างใส และไหลรินอยู่ตลอดเวลา เป็นปลาชอบความสงบเงียบ ตื่นตกใจง่าย กินอาหารค่อนข้างช้า เวลากลางคืนจึงออกมาหาเหยื่อ เป็นปลาที่ชอบลอยตัวรวมฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว อาหารที่เหมาะสมกับปลาชนิดนี้ได้แก่ ลูกน้ำ ไรแดง ไส้เดือน ตัวหนอน เป็นต้น พันธุ์ปลาก้างพระร่วงขณะนี้ใช้วิธีเก็บรวบรวมจากแหล่งธรรมชาติ เพราะยังเพาะขยายพันธุ์ยาก ในธรรมชาติพบมากในบริเวณอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี

การแพร่กระจาย

ถิ่นที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยพบในลำห้วย ลำธาร อ่างน้ำตกแถวภาคใต้ ภาคตะวันออก และในแม่น้ำ บางแห่งบริเวณภาคกลางของประเทศเป็นปลาในเขตร้อน ภาคพื้นเอเชียแปซิคฟิก พบที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และทางภาคใต้ปัจจุบันทางภาคกลางนั้นพบได้น้อยมาก แทบหาไม่พบในธรรมชาติ แต่ยังคงพบปลาก้างพระร่วงนี้ในแหล่งน้ำตาม ธรรมชาติทางภาคใต้ แถบจังหวัดสุราษฎธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และสงขลา พบตามแหล่งน้ำไหล และเย็น มีร่มไม้รกครึ้ม เวลากลางวัน มักหลบอยู่ตามรากไม้ และแนวร่มไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ เวลากลางคืนจึงออกมาหาเหยื่อ เป็นปลาที่ชอบลอยตัวรวมฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว มักอยู่เป็นที่ กินอาหารประเภทแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนแมลงน้ำที่มีชีวิต ลูกน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็กในธรรมชาติพบมากในบริเวณ อำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือน มกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี

วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลา

การรวบรวมปลาก้างพระร่วง เนื่องจากปลาก้างพระร่วงเป็นปลาที่ชอบรวมตัวกันเป็นฝูง ในน้ำที่ใส ลึก และสะอาด การรวบรวมพันธุ์ปลาจึงใช้สวิงทำเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 70 ซม. ความยาวของด้ามถือประมาณ 1 เมตร ส่วนลึกของสวิงโค้งหย่อนลงให้พอสำหรับเมื่อช้อนปลาขึ้นมาแล้วไม่สามารถกระโดดหนีไปได้ วิธีการรวบรวมปลา ทำในเวลากลางคืน โดยใช้เรือออกไปในลำน้ำ เอาสวิงวางไว้ใต้น้ำแล้วเอาปลาดุกสดที่ขูดเนื้อมาละลายน้ำให้เกิดกลิ่นคาวเป็นเหยื่อล่อให้ปลาก้างพระร่วงออกมากินเหยื่อ ปลาก็ออกมาเป็นฝูง ๆ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ประจำที่ ทำให้ผู้หาทราบแหล่งในการเก็บเกี่ยว และเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตน การจับปลาในเวลากลางคืนสามารถจับได้มากกว่าในเวลากลางวัน แล้วเก็บปลาไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องให้อากาศจนรุ่งเช้า จึงนำปลาส่งขาย ส่วนวิธีหาปลาในเวลากลางวัน ซึ่งปลามักอาศัยหลบตามร่มเงาไม้ และใต้รากไม้ ผู้หาใช้สวิงลงรุนในลำคลองที่น้ำไม่ลึกจนเกินไป แล้วตักใส่ถังน้ำนำส่งร้านรับซื้อได้เลย

การอนุบาลปลาก่อนส่งขาย เมื่อเกษตรกรนำปลามาขาย ควรพักปลาไว้ในบ่อที่เตรียม หรือใช้ผ้ายางกั้นทำเป็นบ่อก็ได้ ให้ออกซิเจนตลอดเวลา อาหารที่ใช้เลี้ยงควรเป็นอาหารธรรมชาติ เช่น หนอนแดง ลูกน้ำ แต่ตามปกติผู้รวบรวมต้องได้รับการติดต่อจากผู้สั่งซื้อมาก่อน แล้วจึงออกหาปลา ช่วงที่ยังไม่มีการสั่งซื้อจะงดรับซื้อปลาเพื่อลดภาระการให้อาหารปลา และการสูญเสียจากการตาย การลำเลียงก็ทำเช่นเดียวกับปลาทั่วไป เนื่องจากมีขนาดเล็ก และไม่มีครีบที่แหลมคม โดยใส่ถุงพร้อมอัดออกซิเจน ส่งขายทางกรุงเทพ ฯ และมาเลเซีย ในปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้มาเป็นเวลา 10 ปี โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงในบ่อที่เตรียมไว้ก็ตาม หรือทำกระชังสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมกันเอง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จากการติดตามดูพฤติกรรมของปลานี้ในธรรมชาติว่า ปลาก้างพระร่วงน่าจะวางไข่ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากการสังเกตพบว่า ช่วงปลายเดือนธันวาคม ของทุกปีเริ่มมีลูกปลาขนาดเล็ก หรืออย่างช้าราวเดือนมกราคม ชาวประมงสามารถรวบรวมลูกปลา และเริ่มจับมาขายได้แล้ว

ข้อควรระวัง จากการที่ปลาก้างพระร่วงต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่ใสเย็น รกครึ้มด้วยร่มไม้ชายน้ำ ดังนั้นการขุดลอกคลอง เพื่อการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่ทำให้น้ำขุ่นเป็นตะกอน และทำลายต้นไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ ตลอดจนรากไม้ที่เป็นแหล่งหลบพักอาศัย และซ่อนตัวของปลา ย่อมเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์ และวางไข่ในธรรมชาติ จนเป็นสาเหตุทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้วิธีหนึ่ง จึงควรระมัดระวัง และให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกระทำการอันใดมีการศึกษาผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนตลอดไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาหมูอารีย์

ชื่อสามัญ ปลาหมูอารีย์ Dwarf botia

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหมูอารีย์ Yasuhikotakia sidthimunki (Klausewitz, 1959)

ลักษณะทั่วไปของปลาหมูอารีย์

รูปร่างลักษณะแบบปลาหมู แต่ลำตัวเรียวยาวกว่าเล็กน้อย มีลักษณะของสีสันที่เด่นชัด คือ พื้นเป็นสีเหลืองสด มีแถบดำพาดกลางหลัง กลางลำตัว และบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง ครีบมีสีดำบนพื้นสีจาง ขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบ คือ 10 เซนติเมตร ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 2 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 7-9 ก้าน ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 2 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 5-7 ก้าน ครีบหูประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 1 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 8 ก้าน ครีบหางประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 4 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 19 ก้าน ไม่มีก้านครีบแข็ง จะงอยปากค่อนข้างเรียว มีหนวด 3 คู่ อยู่ที่มุมปาก ในธรรมชาติอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องนา หาดน้ำตื้น ซึ่งมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว จัดเป็นปลาประเภทปลากินเนื้อ

การแพร่กระจาย

ปลาหมูอารีย์เคยพบชุกชุมในแม่น้ำแม่กลอง แควน้อย ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีลงมาถึงราชบุรี บึงบ่อระเพ็ด จ. นครสวรรค์ และลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ณ เมืองปากเซ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว และลำธารในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำว้า อำเภทเวียงสา จังหวัดน่าน และที่อำเภอ แม่จริม จังหวัดน่าน เคยพบในแม่น้ำพอง จังหวัดข่อนแก่นเพียงครั้งเดียว

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ปลาหมูอารีย์ ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ในอัตรา 100 ตัวต่อตารางเมตร โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด ให้น้ำไหลผ่านในอัตรา 10 % ของปริมาตรน้ำในบ่อต่อวัน ให้อาหารผงสำเร็จรูปชนิดผงโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40% เสริมด้วยอาหารมีชีวิต เช่น ปลวก ไรแดง และหนอนแดง ให้รวมกันในอัตรา 10% ของน้ำหนักตัวต่อวัน

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จากการสังเกตลักษณะภายนอก พบว่าในปลาเพศผู้มีลักษณะลำตัวเรียวยาวได้สัดส่วนกว่าตัวเมียเมื่อรีดบริเวณช่วงท้องมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา ในปลาเพศเมียในช่วงที่มีความสมบูรณ์เพศพบว่าส่วนท้องอูมเป่ง นิ่ม ผนังท้องบาง และช่องเพศขยายมีสีแดงเรื่อ ๆ

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์โดยการใช้ฮอร์โมน

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์โดยการฉีดกระตุ้นให้แม่ปลาว่างไข่ ฮอร์โมนที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ Buserelin acetate ในปลาเพศเมียใช้ในอัตราความเข้มข้น 10-30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 5-10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อฐานครีบหลัง โดยการฉีดเพียงครั้งเดียว และในเพศผู้ใช้ในอัตราความเข้มข้น10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 5-10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปล่อยให้ผสมพันธุ์วางไข่กันเองในบ่อเพาะ โดยใช้สัดส่วนเพศผู้ต่อเพศเมีย 1 ต่อ 1 หลังจากการฉีดฮอร์โมน 14-15 ชั่วโมง แม่ปลามีการผสมพันธุ์วางไข่ ไข่ปลาหมูอารีย์เป็นไข่แบบครึ่งลอยครึ่งจม เมื่อพบว่าพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ว่างไข่เสร็จสิ้น จึงรวบรวมไข่ไปฟักในบ่อเพาะฟัก ไข่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.37-0.46 มิลลิเมตร ไข่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 26-28 องศาเซลเซียส

การอนุบาล เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ควรอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์ และเสริมด้วยลูกไรแดงขนาดเล็ก อายุ 7 วัน สามารถฝึกให้ลูกปลากินอาหารผงสำเร็จรูป โดยในระยะแรกควรให้ร่วมกับลูกไรแดง ในช่วงนี้ พบว่าลูกปลามีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร การให้อาหารให้วันละ 3-4 ครั้ง อัตราการปล่อยอนุบาลอยู่ประมาณ 500-1,000 ตัวต่อตารางเมตร การเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน เมื่ออนุบาลจนลูกปลามีอายุ 50 วัน พบว่าลูกปลามีความยาวประมาณ 1.8 เซนติเมตร อัตราการรอดตายประมาณ 90% ในบ่ออนุบาลลูกปลาควรใส่ที่หลบซ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปลาตื่นตกใจ

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาน้ำผึ้ง(อีดูด)

ชื่อสามัญ ปลาน้ำผึ้ง(อีดูด) Siamese algae eater

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาน้ำผึ้ง(อีดูด) Gyrinocheilus aymonieri (Tirant, 1883)

ลักษณะทั่วไปของปลาน้ำผึ้ง

ปลาน้ำผึ้ง หรืออีดูด เป็นปลาประจำท้องถิ่นของไทย ในธรรมชาติเป็นปลาขนาดกลาง โตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร มีรูปร่างยาวทรงกระบอก ปลาน้ำผึ้งเป็นปลาขนาดเล็กที่มีลักษณะลำตัวเรียวคล้ายทรงกระบอก ค่อนข้างเรียวไปทางโคนหาง ความยาวลำตัววัดจากจะงอยปากถึงโคนหางเป็น 4.5-5.4 เท่าของความกว้างลำตัว ส่วนหัวสั้น ด้านล่างของส่วนหัว และส่วนท้องแบนราบ ตาค่อนไปทางด้านบนของหัว ปากอยู่ด้านล่าง ลำตัวมีสีน้ำตาล บริเวณหลังมีแต้มสีดำ หรือน้ำเงิน ด้านข้างลำตัวของปลาวัยอ่อนมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดไปตามความยาวของลำตัว ครีบมีสีเหลือง หรือน้ำตาลพร้อมด้วยจุดสีดำเล็ก ๆ ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังมีก้านครีบ 13-14 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 8-9 อัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 39-41 เกล็ด ปลาน้ำผึ้งพบมากทั้งแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ริมฝีปากเปลี่ยนแปลงเป็นอวัยวะสำหรับการยึดเกาะ เหมือนปลาซัคเกอร์ ช่องเปิดเหงือกแต่ละข้างมีสองช่องสำหรับให้น้ำไหลผ่านใช้ในการหายใจ ผิดจากปากน้ำจืดชนิดอื่น ๆ ที่ดูดน้ำเข้าทางปาก และปล่อยออกทางเหงือก กินอาหารประเภท ตะไคร่น้ำ สาหร่ายบางชนิด เศษพืช และสัตว์เน่าเปื่อยเป็นอาหาร มีขนาดความยาว 20-26 เซนติเมตร

การแพร่กระจาย

ปลาน้ำผึ้งมีการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำไหลทั่วไปทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชามาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในประเทศลาว พบที่หลวงพระบาง และ อ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม ในประเทศกัมพูชาพบบริเวณแม่น้ำโขงของกัมพูชา ในประเทศไทยพบแพร่กระจายอย่างกว้างขว้างทั่วไปในที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด พบมากที่สุโขทัย โดยเฉพาะในแม่น้ำยม และลำคลองสาขา แถบจังหวัดอีสาน พบมากในแม่น้ำโขง และทางภาคใต้ พบที่สงขลา

การเพาะพันธุ์ปลาน้ำผึ้ง

การเพาะพันธุ์ปลาน้ำผึ้ง โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ฉีดปลาเพศเมีย ครั้งที่ 1 ในอัตราความเข้มข้น 10-15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปลาเพศผู้ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม่ปลาสามารถวางไข่ภายในระยะเวลาประมา 4 ชั่วโมง หลังฉีดฮอร์โมน ลักษณะไข่ปลาเป็นแบบไข่ลอย ไข่ฟักเป็นตัวอยู่ในระหว่าง 13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27-28 องศาเซลเซียส มีอัตราการฟักเท่ากับ 30-50 เปอร์เซ็นต์ อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนด้วยโรติเฟอร์ และไข่แดงบดละเอียด ลูกปลามีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 17 วัน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาหมูข้างลาย

ชื่อสามัญ ปลงหมูข้างลาย Tiger botia

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลงหมูข้างลาย Syncrossus hymenophysa (Bleeker, 1852)

ลักษณะทั่วไปของปลาหมูลาย

เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ปลางวง เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามดินดาน หรือ ดินทราย ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ ชอบอยู่ตามซอกหรือตามโพรง ลำตัวมีสีสันสวยงดงาม ลำตัวป้อม ด้านข้างแบน จะงอยปากเล็กเรียว ตรงปลายมีหนวดเป็นกระจุก ปากมีขนาดเล็ก ตาเล็ก มีเงี่ยงแหลม ปลายแยกเป็นสองแฉก ครีบหางปลายแยกเป็นแฉกลึก ครีบหลังอยู่กึ่งกลางลำตัว ขนาดของครีบหู ครีบท้อง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีเหลืองแกมเขียวมีริ้วสีน้ำเงินเข้มพลาดขวางลำตัวประมาณ 11 แถบ ครีบหู และครีบก้นเป็นสีเหลือง ขนาดใหญ่ที่พบมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ขนาดที่พบส่วนมากมีขนาด 12-15 เซนติเมตร

การแพร่กระจาย

ปลาหมูข้าลาย พบแพร่กระจายทั้งใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม บึงบอระเพ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในแม่น้ำโขง

การเพาะพันธุ์ปลาหมูข้างลาย

ปลาหมูข้างลายพบว่ามีฤดูว่างไข่อยู่ในเดือน มิถุนายน-กันยายน ลักษณะเพศที่เห็นชัดเจนได้ในฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ คือ เพศเมียท้องอูมเป่ง ช่องเพศมีสีชมพูเรื่อ ส่วนเพศผู้เมื่อใช้มือรีดที่บริเวณช่วงท้องใกล้ทางออกน้ำเชื้อ พบว่ามีน้ำเชื้อไหลออกมา การเพาะโดยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ในอัตรา 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ในปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถกระตุ้นให้แม่ปลาว่างไข่ได้ภายใน 6 ชั่วโมง ไข่มีสีเทาอมเขียว ลักษณะครึ่งลอยครึ่งจม ไข่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 28 องศาเซลเซียส

การอนุบาล

เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงอาหารยุบจึงเริ่มให้ไข่ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำสาดให้กินวันละ 5 ครั้ง ถ้าสามารถเพาะโรติเฟอร์ใช้ได้ก็ควรอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์ เพราะในระยะแรกลูกปลายังมีระบบการย่อยอาหารที่ยังไม่สมบรูณ์ จึงจำเป็นต้องใช้อาหารมีชีวิตช่วยในการอนุบาล เพื่อที่ลูกปลาจะได้มีอัตราการรอดตายที่สูงขึ้น การเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน เมื่ออนุบาลจนลูกปลามีอายุ 10 วัน จึงเริ่มให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารวันละ 3 ครั้ง โดยใช้แก้วใสตักน้ำในมุ้งอนุบาลตรวจความหนาแน่นของไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของลูกปลา

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาตองลาย

ชื่อสามัญ ปลาตองลาย Indochina featherback

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ปลาตองลาย Chitala blanci (d'Aubenton, 1965)

ลักษณะทั่วไปของปลาตองลาย

ปลาตองลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกันกับปลากราย ปลาสลาด ดังนั้นรูปร่างภายนอกโดย ทั่วไปจึงเหมือนกันมาก ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวด้านข้างแบนมาก พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มอมดำ หรือสีเทาอมเขียว บริเวณส่วนหน้าของลำตัวมีจุดสีดำประปรายอยู่ข้างลำตัว ส่วนท้ายมีขีดสีดำเล็ก ๆ พาดเฉียงจากส่วนบนของลำตัวไปถึงครีบก้น และครีบหาง ส่วนของปากแหลมออก มุมปากเว้าลึกเลยตา เกล็ดมีขนาดเล็กสีขาวเงิน เกล็ดเป็นแบบ cyloid ส่วนหลังของปลาถึงบริเวณหัว มีความลาดชันมาก ครีบหลัง (dorsal fin) ที่มีขนาดเล็กจำนวน 1 ครีบ มีก้านครีบ 10-11 ก้าน ครีบอก 1 คู่ ครีบก้นมีก้านครีบ 119-122 ก้าน และครีบหางติดต่อกันเป็นครีบเดียวกัน ส่วนครีบท้อง 1 คู่ มีขนาดเล็กมากจน แทบมองไม่เห็น ปลาตองลายมีขนาดความยาวสูงสุดประมาณ 1 เมตร เป็นปลาที่ชอบอยู่กันเป็นกลุ่มตามตอไม้กองหิน หรือตามบริเวณโคนเสา มักขึ้นมาฮุบน้ำ เป็นระยะ ๆ เสมอ เป็นปลาที่ไม่ชอบแสงสว่างมากนัก มักออกหากินไล่ล่าปลาเล็กในเวลา กลางคืน หรือในช่วงที่มีแสงสว่างไม่มากนัก อาหารที่ปลาตองลายชอบเป็นพิเศษคือ ลูกปลาเป็น ๆ ขนาดเล็ก และกุ้งฝอย การให้ปลาเป็น ๆ ควรปล่อยไว้ในจำนวนที่มากพอควร เพื่อให้ปลาได้ไล่จับกินเองเวลาหิว แต่ถ้าให้ เนื้อกุ้ง หรือกุ้งฝอยเป็นอาหาร ควรให้ครั้งละไม่มากเกินไป ควรให้เท่าที่ปลาสามารถกินหมดได้ในทันที ปลาที่เลี้ยงจนปรับตัวได้ดีแล้วสามารถฝึกให้กินเนื้อสัตว์ หรืออาหารอื่น ได้อีกหลายชนิด ปลาตองลายเป็นปลาที่เติบโตในที่จำกัดได้ชนิดหนึ่ง

การแพร่กระจาย

ถิ่นอาศัยพบในแม่น้ำโขงช่วงระหว่าง ไทย ลาว และเขมร ปลาตองลายชนิดนี้เพิ่งค้นพบในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่บริเวณแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย จัดเป็นปลาที่มีอยู่เฉพาะถิ่นในแม่น้ำโขงแม่น้ำมูล แม่น้ำตาปี และแม่น้ำสาขา

การเพาะพันธุ์ปลาตองลาย

ปลาตองลายสามารถแยกเพศโดยดูจากลักษณะภายนอก โดยเพศผู้มีอวัยวะรูปร่างคล้ายตะขอบริเวณช่องทางออกของน้ำเชื้อ ปลาตองลายมีการวางไข่ และสืบพันธุ์เช่นเดียวกับปลากราย โดยเพาะในบ่อดิน หรือในที่กักขังก็ได้ เช่น ตู้กระจก การเพาะในตู้กระจก ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1 คู่ต่อตู้ พ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป น้ำที่ใช้ควรผ่านระบบกรอง ใส่น้ำ 800 ลิตร เปลี่ยนถ่ายน้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ 15 วัน และให้ลูกปลาตะเพียนขาว ที่มีชีวิตกินเป็นอาหาร รังไข่ของปลากราย และปลาตองลาย มีหลายระยะ และมีการพิสูจน์แล้วว่า มีรังไข่เดียวที่มีการวิวัฒนาการในฤดูเดียว และสลับกันซ้ายขวาในแต่ละฤดู ในตัวอย่างที่พบรังไข่สุกด้านซ้าย ส่วนระบบการย่อยอาหารอยู่ด้านขวา เมื่อพบพ่อแม่ปลาจับคู่วางไข่ พบว่าพ่อแม่ปลา 1 คู่ มีการวางไข่ผสมพันธุ์ถึง 5 ครั้ง มีจำนวนไข่ที่วางครั้งละ 180-430 ฟอง ไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร และเป็นประเภทไข่จมแบบติดวัตถุเหมือนกับปลากรายระยะเวลาที่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน

การอนุบาลลูกปลาตองลาย พบว่าลูกปลามีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเร็วมาก โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอนุบาลลูกปลาอยู่ระหว่าง 29-31 องศาเซลเซียส อาหารที่ใช้ในการอนุบาลใช้ ไรแดงในระยะแรก และอนุบาลต่อด้วยหนอนแดง ในช่วงอนุบาลด้วยหนอนแดงควรฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบด้วย เช่น กุ้งฝอยบด ปลาบด และอาหารเม็ดสำเร็จรูป อนุบาลประมาณ 2 เดือน ความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาหมูขาว

ชื่อสามัญ ปลาหมูขาว Sun loach

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหมูขาว Yasuhikotakia eos (Taki, 1972)

ลักษณะทั่วไปปลาหมูขาว

ปลาหมูขาวพบได้ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำใน ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลำตัวแบนข้างเล็กน้อย และค่อนข้างป้อมกว่าปลาหมูชนิดอื่น ๆ ความยาวลำตัวจากปลายจนถึงครีบโคนหางเป็น 2.5-2.9 เท่าของความกว้างลำตัว ลำตัวเป็นสีเทา หรือเทาอมเขียวบริเวณด้านหลังสีเข้มกว่าด้านข้างลำตัว ท้องสีเหลืองอ่อนหรือขาว บริเวณโคนหางมีจุดสีดำ สำหรับปลาวัยอ่อนที่ยังโตไม่เต็มที่มีแถบสีดำเล็ก ๆ จะงอยปากค่อนข้างยาว ปลายจะงอยปากมีหนวด 2 คู่ และมุมปากมีหนวดอีก 1 คู่ ปากอยู่ปลายสุด และอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหัวมีหนามแหลมปลายแยกเป็น 2 แฉก ขนาดใหญ่ และแข็งแรง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเหลืองจนถึงสีเหลืองจาง ๆ ครีบหลังมีจำนวนก้านครีบ 9 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 8 อัน ครีบอกมีก้านครีบ 7-9 อัน ปลาหมูขาวเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาหมูที่พบในประเทศไทย ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือขนาด 23.5 เซนติเมตร แต่ที่พบทั่วไปมีขนาดเฉลี่ย 10-25 เซนติเมตร ในธรรมชาติอาหารของปลาหมูขาว ได้แก่ ตัวอ่อนแมลงน้ำ หนอนและซากสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ

การเก็บรวมรวบพันธุ์ปลาธรรมชาติ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตรเก็บรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาหมูขาวจากชาวประมงในแม่น้ำน่านบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร แล้วนำมาแยกเลี้ยง 2 วิธี คือ

  1. ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 50 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว
  2. ในกระชังเนื้ออวนช่องตา 1 เซนติเมตร ขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว ให้ปลาสับเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง ตอนบ่าย เลี้ยงไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อใช้ในการผสมเทียม

การเพาะพันธุ์ปลาหมูขาว ฤดูการผสมพันธุ์ของปลาหมูขาวตามธรรมชาติอยู่ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนประมาณเดือนมีนาคม - กันยายน คัดเลือกแม่พันธุ์ปลาหมูขาวที่สมบูรณ์ที่สุดโดยสังเกตลักษณะของท้องอูมเป่ง และช่องเพศเกิดสีชมพูเรื่อ ๆ ส่วนปลาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า และลำตัวเพรียวกว่า บีบที่ช่องเปิดเบา ๆ มีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา การทดลองผสมเทียมได้ทดลอง 3 ครั้ง โดยใช้แม่ปลาจำนวน 4 ตัว ใช้ต่อมใต้สมองปลาไนฉีดครั้งเดียวในจำนวน 1.5 เท่า ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพศเมีย ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง นำปลามารีดไข่ผสมน้ำเชื้อ ไข่มีลักษณะกลมสีเทาอมเขียวใกล้เคียงลักษณะไข่ปลาตะเพียน ไข่เป็นประเภทครึ่งลอยครึ่งจม ความดกของไข่จากการผ่าแม่ปลาหมูขาว ขนาด 130 กรัม ยาว 19.5 เซนติเมตร รังไข่หนัก 15 กรัม มีไข่อยู่ประมาณ 60,000 - 80,000 ฟอง ไข่ปลาหมูขาวใช้เวลาฟัก 12 ถึง 18 ชั่วโมง ในตู้กระจกที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเป็นด่าง 8.6 ( น้ำบาดาล )

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาหมูขาวที่ฟักออกเป็นตัวแล้ว มาอนุบาลต่อในมุ้งโอล่อน ขนาด 1 x 1 ตารางเมตร ซึ่งแขวนไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 x 5 ตารางเมตร ในโรงเพาะฟักเมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงอาหารยุบจึงเริ่มให้ไข่ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำสาดให้กินวันละ 5 ครั้ง ถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน ตอนเช้าของวันที่ 7 จึงเริ่มให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารวันละ 3 ครั้ง โดยใช้แก้วใสตักน้ำในมุ้งอนุบาลตรวจความหนาแน่นของไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของลูกปลา ลักษณะของลูกปลาหมูขาวขนาดเล็กแตกต่างกับปลาชนิดอื่น คือ ด้านหลังโค้งลาด เช่นพ่อแม่พันธุ์ และบริเวณลำตัวมีสีดำทอดไปตามความยาวของตัวปลา เมื่ออายุได้ 20 วัน พบแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 7-8 แถบ และสีลำตัวออกสีเหลืองอ่อน ๆ ลูกปลามีลักษณะเหมือนพ่อแม่พันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ 45-60 วัน และสีดำที่พาดขวางลำตัวหายไปเมื่อลูกปลาโตขึ้น หรืออายุได้ประมาณ 5 เดือน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on