Written by on

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น

ชื่อสามัญ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Chinese lion head

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Carassius auratus (Linn.)

ลักษณะทั่วไปของปลาทองสิงห์จีน

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ จัดอยู่ในจำพวกปลาสวยงามชนิดหนึ่ง เป็นปลาทองชนิดที่คนนิยมเลี้ยงกันมาก เพราะคนชอบที่วุ้น วุ้นขึ้นหนามากบริเวณส่วนหัวทั้งหมด บางตัววุ้นขึ้นจนปิดตาสนิท ทำให้มองไม่เห็นตาปลา แต่ปลาก็สามารถกินอาหารได้โดยสัณชาตญาณ บางคนไม่เข้าใจเห็นวุ้นปิดตาสนิทหาว่าเป็นปลาตาบอด คนขายต้องอธิบายให้ฟังคนซื้อถึงเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นปลาตาบอดที่วุ้นขึ้นปิดตาสนิทนั้นเป็นลักษณะเด่นของปลา แต่คนที่เข้าใจปลาทองชนิดนี้ เขาชอบกันมากถ้าตัวไหนวุ้นขึ้นปิดตาสนิท ปลาสิงห์จีนหัววุ้นกับสิงห์ชนิดอื่นมองเห็นความแตกต่างกันง่าย คือ ปลาสิงห์จีนหัววุ้นมีวุ้นขึ้นมากกว่าสิงห์ประเภทอื่น บางตัวมีวุ้นขึ้นมากจนว่ายน้ำไม่ไหวหัวทิ่มเพราะหนักวุ้น ลักษณะของสิงห์จีน คือลำตัวสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บริเวณหัวมีวุ้นสีส้มบ้าง แดงบ้าง และบางตัวก็ออกสีขาวแดงมี 2 สี อยู่ในตัวเดียวกัน ลักษณะเด่นก็เหมือนๆ สิงห์ทั่วไป แต่มีข้อแตกต่าง คือ เรื่องวุ้นซึ่งมีมากกว่าสิงห์ชนิดอื่นๆ ลักษณะการดูปลาประเภทสิงห์นั้นสวยหรือไม่สวยส่วนมากแล้ว เขายึดหลักตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้

  1. หลังโค้งหางบานออกพอประมาณต้องได้ฉาก
  2. สีส้มสด
  3. วุ้นหนา วุ้นยิ่งหนายิ่งสวย
  4. ลำตัวได้สัดส่วน

ส่วนในเรื่องลำตัวนั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่บ่อย ๆ ในหมู่นักเลี้ยงปลาด้วยกันว่า ลำตัวสั้นสวยกว่าลำตัวยาว หรือลำตัวยาวสวยกว่าลำตัวสั้น แต่สิ่งที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด คือ ลำตัวสั้นหรือลำตัวยาวก็ได้ แต่ต้องได้สัดส่วน ทำให้สวยได้ไม่แพ้กัน ถ้าเป็นปลาลำตัวยาวปลานั้นต้องอ้วนใหญ่ แกนสันหลัง หาง ครีบทวาร ครีบหน้า และบริเวณหัวต้องใหญ่ได้สัดส่วนด้วย ถ้าเป็นปลาลำตัวสั้น ส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าบริเวณสันหลัง ครีบต่าง ๆ และลำตัวสั้นได้สัดส่วน จึงสรุปได้ว่าทั้งลำตัวสั้น และลำตัวยาวสวยเท่า ๆ กัน แต่สวยไปคนละแบบแล้วแต่คนนิยม สาเหตุที่คนส่วนมากชอบปลาลำตัวสั้นมากกว่าปลาลำตัวยาวนั้น เพราะปลาลำตัวยาวส่วนมากแล้วบริเวณช่วงหลังไม่ค่อยโค้ง เพราะช่วงยาวจากโคนหัวจรดปลายหางอาจเว้ามากหรือนูนจนเกินไป แต่ถ้าหากเขาพบปลาที่หลังโค้งจากโคนหัวจรดปลายหาง และได้สัดส่วนแล้วเขารู้ว่าปลาทั้งสองอย่างนั้นสวยไม่แพ้กันเลย สิงห์จีนที่นำออกขายตามร้านนั้นหาสวยครบทุกส่วนนั้นยากมาก บางตัวมีวุ้นสวยแต่หางใช้ไม่ได้ หรือบางตัวหางใช้ได้ วุ้นใช้ได้แต่หลังใช้ไม่ได้ เพราะปลาผสมพันธุ์ออกมาหนึ่งคอกนั้นหาสวยหมดทุกตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ หนึ่งคอกนั้นอย่างมากติดตัวสวย ๆ ครบทุกส่วนได้ไม่ถึง 20 % นอกจากนั้นแล้วเป็นปลาพอใช้ได้ และใช้ไม่ได้เลย คือ ประเภทปลาหางเสีย เพราะฉะนั้นประเภทสิงห์จึงมีราคาแพงกว่าปลาทองชนิดอื่น ปลายิ่งมีราคาแพงมากเท่าไรคนซื้อจะมองหา ผู้ที่เลี้ยงปลาประเภทนี้ได้ดีนั้น ต้องขยันผสมพันธุ์ปลาบ่อย ๆ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ปลาออกมาหนึ่งคอกมีปลาที่จัดว่าใช้ได้ไม่กี่ตัว ถ้าเราผสมบ่อยครั้งก็สามารถเก็บปลาที่ดีที่สุดไว้ ส่วนปลาที่ไม่สวยนั้น เราเก็บไว้เลี้ยงโต และนำออกขายก่อน เพราะปลาที่ไม่สวยนั้นยิ่งโตเท่าไหร่ ราคามีแต่คงที่หรือไม่ก็แพงขึ้นกว่าเก่าเล็กน้อย จึงทำให้เราเสียเวลาเลี้ยง และสิ้นเปลืองอาหารโดยเปล่าประโยชน์ เราควรประหยัดเวลาโดยการผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา และเก็บลักษณะสวย ๆไว้เลี้ยงจนโต ทำให้เรามีปลาสวยอยู่ตลอดเวลา

การเพาะพันธุ์ปลาสิงห์จีนหัววุ้น

  1. เลือกเพศเมียที่จัดว่าสวยที่สุด จำนวนหนึ่งตัว และเพศผู้จำนวนหนึ่งตัว ลักษณะแข็งแรง
  2. นำปลาทั้งสองเพศใส่ลงไปในภาชนะที่เตรียมสำหรับผสมพันธุ์ และเวลาผสมพันธุ์ปลานั้นควรทำในเวลากลางคืน
  3. ปลาทั้งสองเพศก่อนนำลงผสมพันธุ์ควรแยกไว้คนละที่ก่อนประมาณ 3 วัน เมื่อใส่ปลาลงในอ่างเดียวกันแล้วทำให้ปลามีปฏิกิริยาในการผสมพันธุ์ได้ไวขึ้น
  4. นำสาหร่ายเทียม (เชือกฟางพลาสติก) ฉีกออกเป็นฝอย ๆ แล้วนำก้อนหินถ่วงให้จม เพื่อที่ไข่จะได้ติดตามสาหร่ายเทียม การใช้สาหร่ายเทียมในการเพาะพันธุ์เป็นการป้องกันไข่ปลาเสียได้ดีมาก เพราะสาหร่ายเทียมป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสีย
  5. ปลาผสมพันธุ์กันในเวลาใกล้สว่าง และเมื่อปลาไข่เสร็จแล้วต้องรีบนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออก ถ้าไม่รีบนำออกแล้วปลาจะกินไข่ตัวเอง
  6. เมื่อปลาไข่เสร็จแล้วควรใส่ยาลงไปในภาชนะไข่ปลา 1 เม็ด เพื่อป้องกันเชื้อรา
  7. ภาชนะที่มีไข่ปลาควรได้รับแสงแดดพอเหมาะและใช้เวลา 3 วัน ในการฟักออกเป็นตัว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาทอง

ชื่อสามัญ ปลาทอง Goldfish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทอง Carassius auratus auratus (Linnaeus, 1758)

ปลาทองมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและได้มีการนำเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ในประเทศไทย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการคัดพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีลักษณะ และสีสรรแปลกออกไป พันธุ์ปลาทองที่ได้รับความนิยมในตลาดปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์หัวสิงห์ (Lion head) ออแรนดา (Oranda) เกล็ดแก้ว (Pearl scale) ตาโปน (Telescope Eye) ริวกิ้น (Ryukin) ตาลูกโป่ง (Bubble eye) และชูบุงกิ้น (Shubunkin) เป็นต้น

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง

บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ถังไฟเบอร์ ตู้กระจก ฯลฯ ทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง คือ บริเวณที่แสงแดดส่องได้บ้างในเวลาเช้าหรือเย็น หากเป็นที่โล่งแจ้งต้องทำหลังคาหรือร่มเงาให้แสงส่องลงได้เพียง 25-40% บ่อที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะทำให้สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำ และแพลงค์ตอนพืชให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมทำให้น้ำในบ่อใสสะอาดอยู่เสมอเหมาะกับความเป็นอยู่ของปลา พื้นที่บ่อไม่จำกัด ใส่น้ำลึก 30-70 เซนติเมตร ขึ้นกับชนิดปลา ถ้าเป็นปลาทองสายพันธุ์หัวสิงห์ก็ใส่น้ำตื้น ส่วนพันธุ์ออแรนดาสามารถใส่น้ำลึกได้ ให้อากาศผ่านหัวทรายตลอดเวลา บ่อขนาด 4 ตารางเมตร น้ำลึก 70 เซนติเมตร ใส่หัวทรายให้อากาศแรง ๆ 2-3 หัว ปล่อยพ่อแม่ปลาในอัตราส่วน เพศผู้ต่อเพศเมีย เท่ากับ 2:3 ความหนาแน่น 6 ตัว/ตารางเมตร หรือปริมาตรน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์น้ำหนักรวม 2-2.5 กิโลกรัม

อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ อาหารธรรมชาติ ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไส้เดือนแดง หรืออาร์ทีเมีย อาหารมีชีวิตเหล่านี้จะทำให้ปลาโตเร็ว และปลากินได้ตลอดเวลา แต่การจัดเตรียมหรือจัดหาอาจมีความยุ่งยากในบางพื้นที่

อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารเม็ดปลากินพืชหรืออาหารเม็ดปลาดุกเล็ก โดยอาหารเม็ดปลาดุกเล็กจะดีกว่า เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า สามารถเลี้ยงปลาได้เจริญเติบโตดี และมีสีสรรสวยงาม การให้อาหารให้วันละ 2-3 % ของน้ำหนักปลา เช่น มีปลาทั้งหมดหนัก 500 กรัม ให้อาหารเม็ดวันละ 10-15 กรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น

น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทองควรเป็นน้ำที่สะอาด ใช้น้ำบาดาล น้ำจากแม่น้ำ หรือน้ำประปาที่ใสถังเปิดฝา ให้คลอรีนระเหยออกอย่างน้อย 3 วัน มี pH ประมาณ 6.5-7.5 ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงจำเป็นต้องมีระบบเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาตลอดเวลา ความกระด้าง 75-150 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเป็นด่าง 75-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร มีการดูดตะกอนก้นบ่อออกทุก ๆ 3 วัน แล้วเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม การเลี้ยงปลาทองไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย เพราะทำให้ปลาช้ำ และเกิดโรคง่าย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ 3 เดือน/ครั้ง ในปริมาณ 25-50% ของน้ำทั้งหมด และหากน้ำในบ่อมีคุณภาพไม่ดี ก็ให้ทำการล้างบ่อ นำน้ำเก่าจากบ่ออื่นมาเติมในปริมาณ 30% และใส่น้ำใหม่เพิ่มไปอีก 70% การไม่เปลี่ยนน้ำนาน ๆ แล้วเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ปลาวางไข่เป็นอย่างดี

การเพาะพันธุ์ปลาทอง การเพาะพันธุ์ปลาทองที่ง่าย และประหยัด คือ การใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยการปล่อยให้พ่อแม่ปลารัดกันเองในบ่อผสมพันธุ์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลาทองเจริญพัฒนาจนกระทั่งมีความสมบูรณ์เพศ เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน น้ำหนัก 30 กรัม ก็สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว แต่แม่ปลาขนาดเล็กให้ไข่น้อย และไข่มีขนาดเล็ก การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ควรตรวจสอบลักษณะรูปร่างให้มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์สมบูรณ์ แข็งแรง มีครีบตั้งแข็งไม่ฉีกขาด มีเกล็ดเป็นเงางาม และตรวจสอบความสมบูรณ์เพศดังนี้

เพศผู้ ในฤดูผสมพันธุ์บริเวณแผ่นปิดเหงือก (operculum) และด้านหน้าของครีบหูมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดสิว เรียกว่า pearl organ เกิดขึ้น เวลาสัมผัสจะรู้สึกสากมือ

เพศเมีย มีรูปร่างกลม และป้อมกว่าเพศผู้ ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เต็มที่พร้อมผสมพันธุ์นั้น ส่วนท้องอูมใหญ่ และอ่อนนิ่ม บริเวณก้นบวม และมีสีแดงเรื่อ ๆ แม่ปลาที่ใช้ไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปีครึ่ง เนื่องจากแม่ปลาที่มีอายุมากเกินไป ความสามารถในการวางไข่น้อยลง

การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อเพาะพันธุ์ปลาทอง ได้แก่ บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์นั่นเอง ลักษณะไข่ของปลาทองเป็นไข่ติด ไข่ปลาทองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร เนื่องจากเป็นไข่ติด จึงต้องมีการเตรียมวัสดุยึดเกาะ วัสดุดังกล่าวเรียกว่ารังเทียม ได้แก่ การน้ำพรรณไม้น้ำ เช่น สาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก มามัดรวมกันเป็นกำ กำละ 10-15 ต้น หรือผักตบชวาที่รากยาว นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ นอกจากนี้อาจใช้เชือกฟางซึ่งตัดให้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ฉีกให้เป็นฝอยมัดตรงกลางเรียกว่ารังเทียม นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถนำรังเทียมที่ทำด้วยเชือกฝางกับมาใช้ได้หลาย ๆ ครั้ง การใส่รังเทียมลงในบ่อเพาะเป็นการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ นอกจากนี้ในบ่อเพาะพันธุ์ต้องมีการเพิ่มออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อใส่รังเทียมไปในตอนเย็น ปลามักวางไข่ในตอนเช้ามืดของอีกวัน โดยปลาตัวผู้เริ่มไล่ตัวเมีย และใช้หัวดุนที่ท้องของปลาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ปลาตัวเมียปล่อยไข่เป็นระยะ ๆ ในเวลาเดียวกันนั้น ปลาตัวผู้ก็ปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่กระจายติดกับรังเทียม แม่ปลาวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง วิธีการตรวจสอบอย่างง่าย ๆ คือ หลังจากใส่รังเทียมในตอนเย็น สามารถตรวจสอบการวางไข่ในตอนเช้า หากพบว่าแม่ปลามีการวางไข่ให้เก็บรังเทียมไปฟักในถังฟักไข่ ปลาทองสามารถวางไข่ได้ทั้งปี ดังนั้นจึงควรใส่รังเทียมลงไปทุกอาทิตย์ นอกจากนี้แม่ปลาทองมักวางไข่มากในฤดูหนาว ซึ่งปลาอาจมีการผสมพันธุ์วางไข่ได้ทั้งวันในช่วงนี้ จึงต้องนำรังเทียมไปเติมในบ่อ และเก็บไข่ไปฟักเป็นระยะ

การฟักไข่ นำรังเทียมที่มีไข่เกาะติดไปฟักในบ่อฟักไข่ ซึ่งอาจใช้ บ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์ โอ่งหรือกะละมังพลาสติกก็ได้ ถ้าใช้ถังไฟเบอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ใส่น้ำลึก 50-60 เซนติเมตร สามารถใช้ฟักไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง ให้อากาศตลอดเวลา ไข่ปลาทองฟักออกเป็นตัวภายใน 2-4 วัน โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเล็กมาก ตัวใส เกาะติดกับรังไข่ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจึงว่ายน้ำออกจากรังไข่ และว่ายน้ำเป็นอิสระ ลักษณะลำตัวมีสีเข้มขึ้น เมื่อนำรังเทียมออกจากบ่อในระยะนี้ แล้วอนุบาลในบ่อเดิมต่อไป หรืออาจย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อใหม่ก็ได้

การอนุบาลลูกปลาทอง

ลูกปลาทองที่ฟักในระยะแรกเริ่มยังไม่กินอาหาร เนื่องจากยังใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่กับหน้าท้องได้ เมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงไข่แดงยุบ จึงเริ่มกินอาหาร อาหารในระยะแรก คือ ไข่แดงต้มสุกบดละเอียด ละลายน้ำสาดให้กินวันละ 3-4 ครั้ง ลูกปลา 100,000 ตัว ให้ไข่แดงประมาณวันละ 1 ฟอง เมื่อลูกปลาอายุ 1 สัปดาห์ ควรเสริมไรแดงให้ลูกปลากิน ลูกปลาจึงเจริญเติบโตได้รวดเร็ว และแข็งแรงสมบูรณ์หรือให้ไรแดงตั้งแต่วันที่ 3 เลยก็ได้ เมื่อลูกปลาอายุ 1 เดือน จึงทำการคัดขนาด และย้ายบ่อ โดยคัดปลาที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันไปอยู่ในบ่อใหม่ และให้อาหารเม็ดปลาดุกเล็กหรืออาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง เป็นต้น เมื่อลูกปลาทองมีอายุประมาณ 1.5-2.5 เดือน จึงริ่มเปลี่ยนสี ช่วงนี้ให้ทำการคัดปลาที่มีลักษณะสวยงามถูกต้องตามสายพันธุ์เพื่อเลี้ยงไว้ต่อไป ส่วนปลาที่เหลือนำไปเลี้ยงรวมกันอีกบ่อ เพื่อเป็นปลาทองที่จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า สำหรับปลาที่พิการ และถูกคัดทิ้ง จะนำไปจำหน่ายเป็นปลาเหยื่อ

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาเซอร์เป้เตตร้า

ชื่อสามัญ ปลาเซอร์เป้เตตร้า Serapae tetra, Jewel tetra

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเซอร์เป้เตตร้า Hyphessobrycon eques (Steindachner, 1882)

ลักษณะทั่วไปของปลาเซอร์เป้เตตร้า

ปลาเซอร์เป้เตตร้า หรือที่ตลาดเมืองไทยมักนิยมเรียกกันว่าปลาเซเป้เตตร้านั้น มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศปารากวัย ทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่ารัก และเลี้ยงง่ายเป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาบรีดดิ้งฮาร์ท ลำตัวของปลาชนิดนี้มีสีน้ำตาลออกแดงหรือส้ม ครีบหลัง และครีบท้องมีสีดำ ปลายครีบมีสีขาว บริเวณลำตัวด้านหลังของเหงือกมีจุดสีดำประแต้มอยู่ข้างละจุด และเห็นเด่นชัด แต่เมื่อปลาอายุมากขึ้นจุดสีดำนี้ค่อย ๆ จางหายไป จัดว่าเป็นปลาที่มีความอดทนค่อนข้างเลี้ยงง่าย กินอาหารได้แทบทุกชนิดไม่ว่าเป็นอาหารสด เช่น ลูกน้ำ ไรทะเล (อาร์ทีเมีย) หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ หรืออาหารแห้งสำเร็จรูป

ในธรรมชาติปลาชนิดนี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ตามพุ่มไม้น้ำในแม่น้ำ ลำธาร ที่มีกระแสน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงทำให้ปลาชนิดนี้ค่อนข้างเป็นปลาที่มีความอดทน และแข็งแรงมากเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่มีอาวุธที่พอจะคุ้มครองป้องกันตัวเอง จึงมักถูกปลาชนิดอื่นรังแก และทำร้าย ดังนั้นในการเลี้ยงปลาชนิดนี้จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกันแต่มีนิสัยก้าวร้าว เพราะปลาเซอร์เป้เตตร้าอาจถูกทำร้าย จนเกิดการบาดเจ็บ และตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาเสือสุมาตรา และปลาสอด เพราะปลาทั้งสองชนิดเป็นปลาที่มักว่ายไล่กัดปลาภายในตู้ชนิดอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน หรือเล็กกว่า ปลาที่เลี้ยงรวมกับปลาเซอร์เป้เตตร้าได้ควรเป็นปลาตระกูลใกล้เคียงกัน เช่น ปลาบรีดดิ้งฮาร์ท ปลาอัลไบโน ปลามองน์ฮอคเซีย ปลาโรซี่บาร์บ ปลานีออนชนิดต่าง ๆ หากปลาเซอร์เป้เตตร้าไม่ถูกปลาอื่นรบกวน และปลาถูกเลี้ยงอยู่ในสภาพน้ำที่ดี ได้รับอาหารอย่างพอเพียง ปลาจะมีอายุยืนยาว สำหรับสภาพในที่เลี้ยงควรปลูกพันธุ์ไม้น้ำให้หนาแน่น และควรให้กระแสน้ำหมุนเวียนมาก ๆ เพื่อให้ปลารู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด

การเพาะพันธุ์ปลาเซอร์เป้เตตร้า

การคัดแยกพ่อแม่พันธุ์ ปลาเซอร์เป้เตตร้าเพศผู้ส่วนมากมีสีสันออกแดงเข้มสดกว่าปลาเพศเมีย รูปร่างค่อนข้างบาง และเพรียวกว่า ส่วนปลาเพศเมียโดยมากมีท้องอูมเป่งกว่า ครีบหลังสั้นกว่าเล็กน้อย ซึ่งค่อนข้างสังเกตยาก

การเพาะพันธุ์ ปลาเซอร์เป้เตตร้าแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ผสมพันธุ์ ไข่เกาะติดอยู่ตามใบไม้ และสาหร่ายใต้น้ำ ไข่ฟักเป็นตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส ดังนั้นในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้จึงควรหาสาหร่ายมาปลูกในตู้ด้วยเพื่อให้ไข่ปลาเกาะติด หรืออาจใช้สาหร่ายเทียม โดยใช้เชือกฟางมาฉีกเป็นฝอยแล้วถ่วงด้วยหินให้จมลงในน้ำ สำหรับอุณหภูมิของน้ำควรรักษาให้อยู่ในระดับ 24-26 องศาเซลเซียส การรักษาความสะอาดของน้ำนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าน้ำไม่สะอาดหรือไม่บริสุทธิ์พออาจทำให้ไข่เสียได้ สำหรับแสงไม่ควรสว่างมากเกินไป เพราะปลาชนิดนี้ไม่ชอบแสงสว่างมากนัก โดยเฉพาะแสงสว่างในยามบ่าย ปกติปลามักวางไข่ในตอนเช้ามืด เมื่อพบว่าปลาวางไข่แล้วควรรีบตักพ่อแม่ปลาแยกออก เนื่องจากพ่อแม่ปลาไม่ยอมเลี้ยงลูกของตน และอาจกินไข่หรือลูกของตนได้ด้วย หลังจากปลาออกไข่แล้วควรใส่ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าและป้องกันเชื้อโรคในน้ำด้วย อาจใช้ตัวยาคลอแรมเฟนิคอลใส่ลงในน้ำ 1-2 แคปซูล เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวได้ 3 วัน และเริ่มว่ายน้ำได้แล้วจึงให้ลูกไรแดงเป็นอาหาร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาแฟนซีคาร์พ

ลักษณะทั่วไปของปลาแฟนซีคาร์พ

ปลาแฟนซีคาร์พ (Fancy carp) หรือที่เรียกกันว่า ปลาไนแฟนซี ปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่อง เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน (carp) ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) หรือ นิชิกิกอย (Nishikigoi) เดิมทีเป็นปลาไนชนิดธรรมดา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่พบอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก บริเวณที่ถือว่าเป็นแหล่งดั้งเดิมจริง ๆ ของปลาไน คือ ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปลาไนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศญี่ปุ่น ตามหลักฐานตามประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่มีอยู่เกี่ยวกับ Koi นั้นได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองร้อยปีหลังคริสต์ศตวรรษ หลักฐานดังกล่าวได้เล่าถึงปลาชนิดนี้ว่า มีสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ปลาเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไว้สำหรับดูเล่น สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ ซึ่งนำมาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2493 จากนั้นก็มีผู้สั่งปลาเข้ามาเลี้ยงกันมากมายในราคาที่ค่อนข้างสูง ได้มีการศึกษาและทดลองเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ยังผลให้การสั่งเข้าปลาแฟนซีคาร์พ ลดลง และปลาในประเทศที่มีคุณภาพดีได้รับความนิยมมากขึ้นจนแพร่หลายดังเช่นปัจจุบันปลาแฟนซีคาร์พ ผสมพันธุ์ และวางไข่ในฤดูกาลที่แตกต่างกันแล้วแต่สถานที่ที่ปลาอาศัยอยู่ ฤดูวางไข่ของปลาเหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงอากาศอบอุ่น ส่วนในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธุ์ เป็นช่วงฤดูหนาว ปลาไม่เจริญเติบโต และไม่สืบพันธุ์ สำหรับประเทศไทยปลาแฟนซีคาร์พ สามารถวางไข่ได้ ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งพ่อแม่ปลามีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่

การเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พ

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (18-22 องศาเซลเซียส) จำเป็นต้องมีการเพิ่มอุณหภูมิ เพื่อกระตุ้นให้ปลามีการผสมพันธุ์ และวางไข่ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 25-32 องศาเซลเซียส จึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นบ่อผสมพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พ ควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 4 ตารางเมตร มีการทำความสะอาด กำจัดศัตรู และโรคอย่างดี น้ำที่ใช้เพาะพันธุ์ควรเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติดี ไม่มีสารพิษหรือเคมีใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวปลา และไข่ปลา โดยปกติระดับน้ำในบ่อเพาะควรมีความลึกประมาณ 50-70 เซนติเมตร ใช้เชือกฟางพลาสติก สาหร่าย หรือรากของพันธุ์ไม้น้ำมาผูกติดกันเป็นแพลอยอยู่ในบ่อเพื่อให้ไข่ติด อัตราส่วนของพ่อแม่พันธุ์ที่นิยมในการเพาะใช้แม่ปลา 1 ตัว ต่อพ่อปลา 2-3 ตัว การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อเพาะควรกระทำในเวลาเย็นเพื่อปลาจะผสมพันธุ์ใน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น แม่ปลาความยาว 40 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม จะมีไข่ประมาณ 7-8 หมื่นฟอง พฤติกรรมในการผสมพันธุ์วางไข่ มีลักษณะเช่นเดียวกันกับปลาในตระกูลคาร์พ ชนิดอื่น ๆ คือ

ปลาตัวผู้ใช้ส่วนหัวดุนที่ส่วนท้องของตัวเมียของตัวเมีย เพื่อกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ แม่ปลาว่ายไปใกล้ผิวน้ำแล้วกลับตัวเพื่อปล่อยไข่ ขณะเดียวกันปลาตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วติดกับวัสดุที่เตรียมไว้ หลังจากปลาวางไข่แล้วต้องย้ายพ่อแม่ปลาออกจากบ่อเพาะ ส่วนไข่ที่ติดอยู่กับวัสดุย้ายไปฟักในบ่ออื่น หรือฟักในบ่อเดิมก็ได้

การฟักไข่และอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลาแฟนซีคาร์พเป็นไข่ที่ติดกับวัสดุ มีสีเหลืองอ่อนเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.7 มิลลิเมตรไข่ที่ผสมแล้วลักษณะโปร่งใส ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 45 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 28-29 องศาเซลเซียส เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวใหม่ ๆ ตัวอ่อนเกาะติดกับวัสดุใต้น้ำ ลูกปลาวัยอ่อนกินอาหารจากถุงไข่แดง (yolk sac) ที่ติดอยู่กับตัวปลา ถุงไข่แดงยุบประมาณ 2-3 วัน ปลาเริ่มว่ายน้ำ และหาอาหารธรรมชาติ อาหารในช่วงแรกนี้ควรใช้นมผง หรือไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำให้กินวันละ 4-6 ครั้ง จากนั้นจึงให้ไรแดง เป็นอาหาร ลูกปลาเริ่มเกิดครีบหาง และครีบหู เมื่ออายุได้ 6 วัน เริ่มมีเกล็ด เมื่ออายุ 12 วัน และเจริญเติบโตจนมีรูปร่าง และอวัยวะต่าง ๆ ครบเหมือนปลาทั่วไปเมื่ออายุได้ 15 วัน ซึ่งในระยะนี้ลูกปลามีความยาวเฉลี่ย 1.7 ซม.

การคัดเลือกลูกปลา

โดยทั่วไปแล้วหลังจากที่ลูกปลามีอายุประมาณ 60 วัน จึงเริ่มมีการคัดลูกปลา โดยคัดแยกปลาที่มีลักษณะดี สีสวยงาม ไม่พิการไปเลี้ยง ส่วนปลาที่ไม่ต้องการควรแยกออก เพื่อมิให้ปะปนกับปลาที่มีลักษณะดี ในการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พในแต่ละครั้ง อาจได้ลูกปลาที่สีสวยงามดี ในการเพาะแต่ละครั้งประมาณ 5-10% แต่ปลาที่สามารถคัดได้มีคุณภาพดีเยี่ยมอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือไม่ได้เลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของพ่อแม่ วิธีการอนุบาล ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ของผู้เพาะพันธุ์

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาพาราไดซ์

ชื่อสามัญ ปลาพาราไดซ์ Paradise fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาพาราไดซ์ Macropodus opercularis (Linnaeus, 1758)

ลักษณะทั่วไปของปลาพาราไดร์

ปลาพาราไดซ์เป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างสวยงาม คล้ายกับปลากระดี่ พื้นเพมาจากทวีปเอเชียตะวันออกเช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี และเวียดนาม ปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติเลี้ยงง่าย อดทน เหมาะสำหรับนักเพาะพันธุ์สมัครเล่น ปลาพาราไดซ์มีขนาดลำตัวค่อนข้างแบน ครีบทุกครีบยาวแหลมเด่นเป็นพิเศษ ส่วนปลายครีบหางเว้าชี้แหลมยื่นยาวออกไปทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ลำตัวสีน้ำตาลอมแดงสลับด้วยสีเงินยวง ตรงบริเวณเหงือกมีสีส้มแดงแต้มด้วยสีดำเป็นจุดเห็นชัดเจนข้างละหนึ่งจุด ปลาบางตัวมีครีบหางสีแดง และยังมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายไปทั่ว ครีบหลัง และครีบก้น สีดำอมน้ำเงินยวง แต่ตัวผู้ส่วนนี้มีสีแดง ก้านครีบแข็ง และคม ตามธรรมชาติปลาพาราไดซ์มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ในแหล่งน้ำที่มีพื้นดินเป็นโคลนเลนระดับน้ำตื้นๆในสภาพที่เป็นกลาง และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบ่อกลางแจ้ง แต่ปลาชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย เกเร ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า

การเพาะพันธุ์ปลาพาราไดซ์

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ก่อนการเพาะพันธุ์ผู้เลี้ยงจะต้องจำแนกเพศปลา เห็นได้ว่าปลาพาราไดซ์ตัวผู้มีรูปร่างใหญ่กว่าปลาตัวเมีย และเครื่องทรงจำพวกครีบหาง ครีบก้นตลอดจนครีบอก ยื่นยาวออกมามากกว่าปลาตัวเมีย และมีสีสันสดใสกว่าปลาตัวเมีย

การเพาะพันธุ์ คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ตามที่ต้องการแล้ว ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในบ่อหรือตู้เพาะพันธุ์ ควรใช้ในอัตราแม่พันธุ์ประมาณ 5-8 ตัว ต่อ พ่อพันธุ์ 1 ตัว ทั้งนี้เพื่อป้องกันพ่อพันธุ์ไล่กัดแม่พันธุ์ บ่อเพาะควรมีเนื้อที่กว้างพอที่แม่พันธุ์ใช้หลบหนีภัยจากพ่อพันธุ์ได้สะดวก ปลาประเภทนี้การผสมพันธุ์ และการสร้างรังไข่คล้ายกับปลากัด เมื่อแม่พันธุ์พร้อมวางไข่ พ่อพันธุ์เริ่มสร้างรังโดยการก่อหวอดขึ้นตามผิวน้ำใกล้กับขอบบ่อเพาะหรือพุ่มไม้น้ำ เมื่อแม่พันธุ์เริ่มออกไข่ พ่อพันธุ์ทำหน้าที่อมไข่มาพ่นติดกับหวอดจนไข่หมด หลังจากนั้นพ่อพันธุ์ไม่ยอมให้แม่พันธุ์เข้าไปใกล้บริเวณรังไข่เป็นอันขาด เนื่องจากนิสัยแม่พันธุ์ส่วนมากเมื่อวางไข่แล้ว แม่พันธุ์ชอบกินไข่ของมันเอง สำหรับพ่อพันธุ์จะเป็นยามเฝ้าดูแลไข่จนฟักออกเป็นตัว

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ใช้เวลาในการฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 30-50 ชั่วโมง หลังจากไข่เริ่มทยอยฟักออกเป็นตัว ลูกปลาได้รับอาหารจากไข่แดงที่ติดตัวมาใน 3 วันแรก อาหารที่ผู้เพาะพันธุ์ให้ลูกปลามื้อแรกควรเป็นอาหารจำพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไรแดง และเมื่อลูกปลามีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นกว่าเดิม ผู้เพาะพันธุ์ควรหันมาให้อาหารสำเร็จรูป อาหารสด เช่น ไรแดง ลูกน้ำ อาร์ทีเมีย เนื่องจากอาหารชนิดนี้มีโปรตีนสูง

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลานีออน ปลาแสงนีออน

ชื่อสามัญ ปลานีออน ปลาแสงนีออน Neon tetra

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลานีออน ปลาแสงนีออน Paracheirodon innesi (Myers, 1936)

ลักษณะทั่วไปของปลานีออน

ปลานีออน จัดเป็นปลาสวยงามขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ มีสีสันที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็น บนลำตัวมีสีน้ำเงินอมเทา ตรงแนวสันหลังสีเขียวอ่อน และมีสีฟ้าเชื่อมติดระหว่างโคนหาง ส่วนโคนครีบหาง และครีบอกมีสีแดงพาดอยู่ ลำตัวเจริญเติบโตเต็มที่วัดได้ 1.5 นิ้ว มีอุปนิสัยรักสงบ ชอบว่ายน้ำเล่นอยู่ตลอดเวลาไม่อยู่นิ่งกับที่ อาศัยอยู่บริเวณกลางน้ำและผิวน้ำ ปลาชนิดนี้ชอบเกาะกลุ่มรวมกันเป็นฝูง ๆ กินอาหารได้ทุกชนิด จึงไม่มีปัญหาในเรื่องอาหาร

การเพาะพันธุ์ปลานีออน

การคัดพ่อแม่พันธุ์ การคัดพ่อแม่พันธุ์สังเกตได้จาก ปลาตัวเมียมีขนาดลำตัวใหญ่ อ้วนกลมกว่าบริเวณส่วนท้องของปลาตัวเมียเต่งขยายออก การเคลื่อนไหวเชื่องช้า สีคมชัดกว่า สำหรับตัวผู้ลำตัวยาวเรียวกว่า และมักไล่ต้อนตัวเมียเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ ตามธรรมชาติปลานีออนเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ค่อนข้างยาก ฉะนั้นผู้เพาะเลี้ยงจึงต้องใช้เทคนิค และวิธีการบางอย่างเข้าช่วย เพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ในการวางไข่ให้เร็วขึ้น การเพาะพันธุ์ปลานีออนจะประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีการและเทคนิคดังนี้
การเตรียมอุปกรณ์ในการเพาะพันธุ์
อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ เช่น ตู้เพาะเลี้ยง ฝาปิดตู้ปลา และพันธุ์ไม้น้ำ ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคให้สะอาดเสียก่อน ด้วยการแช่น้ำเกลือหรือด่างทับทิม โดยเฉพาะตู้เพาะพันธุ์ และฝาตู้ปลาควรแช่ได้นาน 1-2 วัน ต่อจากนั้นเช็ดให้แห้ง สำหรับพันธุ์ไม้น้ำก็เช่นกัน แต่ความเข้มข้นต้องเจือจางกว่า การฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

ตู้เพาะพันธุ์ ตู้สำหรับที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลานีออนควรมีขนาดที่พอเหมาะ คือ ขนาดของตู้ปลาควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ค่อนข้างแบนจุน้ำได้ 80 ลิตร ปริมาณน้ำที่เติมลงไปประมาณ 60 ลิตร ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค และปลูกพันธุ์ไม้น้ำไว้บริเวณด้านข้างของตู้ปลาด้านใดด้านหนึ่ง หรือใช้กิ่งไม้แทนหิน กรวด ทราย เนื่องจากกิ่งไม้เป็นที่วางไข่จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัวอ่อน บริเวณที่ตั้งตู้ปลาควรเป็นสภาพที่เงียบไม่มีคนพลุกพล่าน ทางที่ดีควรเลือกตั้งตรงบริเวณที่ได้รับแสงแดดยามเช้า อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่พันธุ์ไม้น้ำ และไข่ หรือตัวอ่อนที่กำลังเติบโตต่อไป ก่อนการตั้งตู้ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากเมื่อตั้งตู้ปลาแล้วเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายตู้ปลาได้อีก

สภาพน้ำ การเพาะพันธุ์ปลานีออน น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าน้ำที่ไม่สะอาดมาทำการเพาะพันธุ์ทำให้เกิดผลเสียหาย บางท่านนำน้ำกลั่นมาเพาะเลี้ยงแล้วใช้แอร์ปั๊มเข้าช่วยเพื่อเพิ่มออกซิเจนเหตุผลนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะน้ำกลั่นโดยทั่วไปมีสภาพเป็นกรด ถ้าใช้น้ำประปาควรปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปแล้วนำมาใช้เพาะพันธุ์ ผู้เพาะเลี้ยงควรปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์ และการวางไข่ปลานีออน โดยเฉพาะคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างควรอยู่ในระหว่าง 6.2-6.8 และระดับอุณหภูมิของน้ำเฉลี่ย 23-24 องศาเซลเซียส

เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้ตามความต้องการแล้ว ก่อนปล่อยควรทำการฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับตัวปลาด้วยการใช้ด่างทับทิมหรือเกลือผสมกับน้ำให้มีความเจือจางแช่ไว้ประมาณ 24 ชม. จากนั้นก็นำพ่อแม่พันธุ์ลงปล่อยในตู้ปลาที่เพาะเลี้ยงการให้อาหารในช่วงนี้สำคัญ เพราะอาจทำให้น้ำในตู้เน่าเสียได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมอาหารเป็นพิเศษ ทางที่ดีควรให้อาหารประเภท ลูกน้ำ ไรแดง อาร์ทีเมีย สภาพน้ำในตู้ควรฆ่าเชื้อด้วยเกลือหรือยาปฏิชีวนะ เช่น คอแรมเฟนิคอล ฯลฯ.

การวางไข่ เมื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ในตู้เพาะเลี้ยง 2-3 วัน สังเกตเห็นตัวผู้ว่ายไล่ต้อนตัวเมีย ซึ่งทำให้ตัวเมียหนีเข้าไปอยู่ในพันธุ์ไม้น้ำ เมื่อสภาพสมบูรณ์เต็มที่ตัวเมียวางไข่ในตอนใกล้รุ่งของวันใหม่ ส่วนตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมทันที ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วฟักเป็นตัวภายใน 2-3 วัน จากนั้นจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากตู้แล้วปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันแสงสว่าง

การอนุบาลลูกปลา หลังจากที่ลูกปลานีออนเจริญเติบโตสามารถว่ายน้ำได้ ช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเพราะลูกปลาได้รับอาหารจากถุงไข่แดง ต่อจากนั้นให้ลูกไรแดงจนลูกปลาโตพอที่กินอาหารชิ้นใหญ่ ๆ ได้แล้ว คือ มีอายุประมาณ 1 เดือน ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนอาหารจากไรแดงเป็นเนื้อกุ้งสับให้ละเอียด ต่อมาเมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ลูกปลาเริ่มปรากฏลวดลายสีสันออกมาให้เห็นชัด และเมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 2 เดือน สีประจำตัว คือ สีฟ้าเปล่งประกายเข้มเหมือนกับ พ่อแม่พันธุ์ทุกประการ

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน

การเพาะเลี้ยงปลานีออนบางท่านยังไม่เข้าใจในชีวิตธรรมชาติของปลาประเภทนี้มากนักจึงคิดว่าปลานีออนเป็นปลาที่เลี้ยงยาก แต่ถ้าผู้เพาะเลี้ยงได้ศึกษาลักษณะนิสัยของปลานี้แล้วรู้ได้ว่าการเลี้ยงปลานีออนได้ง่ายดังเช่นการเคลื่อนย้ายปลา

ปลานีออนเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ ระบบทุกส่วนไวต่อการสัมผัสของระบบประสาท ผู้เพาะเลี้ยงจึงสมควรที่ต้องรู้วิธีการ และเคล็ดลับการเคลื่อนย้ายปลานีออนเพื่อป้องกันการบอบช้ำ การซื้อปลามาเลี้ยงไม่ควรใช้กระชอนตักปลาขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เนื่องจากปลานีออนมีขนาดเล็กความบอบช้ำมีมาก และเกิดโรคบางชนิดขึ้นได้ง่าย ทางที่ดีแล้วควรใช้ขันหรือจากตักให้มีน้ำอยู่ด้วย แล้วเทลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถุงพลาสติก ถังน้ำ ฯลฯ วิธีการปล่อยปลานีออนลงเลี้ยงถือเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงต้องเตรียมสภาพน้ำให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นกรดเป็นด่างควรมีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 6.2 - 6.8 สำหรับระดับอุณหภูมิของน้ำภายในตู้เลี้ยงให้อยู่ประมาณ 75 องศาฟาเรนไฮน์ และก่อนปล่อยปลาจำเป็นต้องใส่ยาปฏิชีวนะ จำพวกคลอแรมเฟนิคลอ แอมพิซิลิน หรือใส่เกลือแกงลงไปด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคบางชนิด ต่อมาให้นำถุงพลาสติกที่ใส่บรรจุปลานีออนอยู่ภายในแช่ลงในตู้ปลาประมาณ 10-20 นาที เพื่อให้ปลานีออนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาได้เป็นอย่างดี

ระบบนิเวศภายในตู้

การปลูกพันธุ์ไม้น้ำ และใส่วัสดุต่าง ๆ เพื่อเป็นที่หลบซ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่ตู้ปลาดูเป็นไปแบบตามธรรมชาติจริง ๆ

การเลี้ยงปลานีออนให้มีลักษณะเด่น

ผู้เลี้ยงควรปล่อยปลาอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ และบริเวณฝาปิดหรือหลังตู้ควรปิดทับด้วยวัสดุบางอย่างที่ทำให้เกิดความมืด เวลามองดูตัวปลาสีสันจะได้สะท้อนสดใสสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น และผู้เลี้ยง

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาสอดแดง

ชื่อสามัญ ปลาสอดแดง Red swardtail

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาสอดแดง Xiphophorus hellerii Heckel, 1848

ลักษณะทั่วไปของปลาสอดแดง

ปลาสอดแดงถึงเป็นปลาพื้น ๆ แต่ก็รู้จักกันดีในหมู่นักเพาะพันธุ์ในขั้นแรก เนื่องจากปลาสอดแดงเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ง่าย ราคาไม่แพงนัก สีสันสะดุดตาแก่ผู้เพาะเลี้ยง ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ และสามารถเลี้ยงรวมกับปลาประเภทอื่น ๆ มีนิสัยไม่เกเร ส่วนมากอาศัยบริเวณผิวน้ำ ส่วนน้ำที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ควรมีสภาพค่อนข้างกระด้าง และออกไปทางเป็นด่างเล็กน้อย

การเพาะพันธุ์ปลาสอดแดง

การคัดพ่อแม่พันธุ์ การดูอวัยวะเพศปลาสอดแดงทั้งตัวผู้ และตัวเมีย คือ ปลาตัวผู้ลำตัวค่อนข้างแบน ปลายหางเรียวยาว ยื่นออกมาเรียกว่าหางดาบ (swardtail) ส่วนครีบก้นมีลักษณะพุ่งแหลมชี้ขนานไปตามแนวลำตัว เป็นอวัยวะสำหรับผสมพันธุ์เรียกว่า gonopodium ปลาตัวเมียขนาดลำตัวป้อมสั้นกว่าปลาตัวผู้ โดยเฉพาะบริเวณท้องขยายกว้างใหญ่ ส่วนครีบหาง และครีบก้นโค้งมน ไม่พุ่งแหลมเหมือนกับตัวผู้ ลักษณะที่สำคัญของปลาสอดที่ผิดแปลกไม่เหมือนกับปลาบางประเภท คือ ตัวเมียบางตัวสามารถแปลงเพศเป็นตัวผู้ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมบางประการด้วย แต่ตัวผู้ไม่สามารถแปลงเพศได้เหมือนตัวเมีย

ผู้เพาะพันธุ์ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง สีสันสดใสไม่มีสีอื่น ๆ มาแทรก ซึ่งทำให้เกิดตำหนิรอยด่าง ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลำตัวใหญ่ ครีบหาง ครีบอก ฯลฯ ไม่ฉีกขาด และไม่ควรนำปลาที่อยู่ในครอกเดียวกันมาผสม เพราะทำให้ลูกปลาที่เกิดใหม่มีสายเลือดชิดเกินไป

การเพาะพันธุ์ปลาสอดทำได้ง่ายมาก โดยปล่อยแม่พันธุ์ที่ท้องแก่เต็มที่ลงไปไว้ในตู้ก่อนสัก 2 วัน เพื่อสร้างความเคยชินกับน้ำ และสถานที่เพาะพันธุ์เสียก่อน จากนั้นค่อยปล่อยพ่อพันธุ์ลงไป ในอัตราการปล่อย ตัวเมีย ประมาณ 4-5 ตัวต่อตัวผู้ 1 ตัว โดยปลาสอดตัวผู้จะสอดอวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะเพศของปลาตัวเมียเพื่อฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในท้อง ตัวเมียให้ลูกภายใน 4 สัปดาห์ และให้ลูกอีก 4-6 ครั้งโดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์ ตัวเมียมีลูก ประมาณครั้งละ 20-100 ตัว ส่วนใหญ่แล้วนักเพาะพันธุ์นิยมปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในเวลาช่วงเวลาเย็น เมื่อแม่ปลาออกลูกแล้วจึงค่อย ๆ ช้อนพ่อแม่พันธุ์ขึ้น ในระยะ 2 - 3 วันแรก ไม่จำเป็นต้องให้อาหารแก่ลูกปลา หลังจาก 3 วันไปแล้ว ผู้เพาะพันธุ์ควรให้อาหารแก่ลูกปลา

การอนุบาลลูกปลา

แยกลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวนำไปอนุบาลในบ่อ อาหารที่เหมาะสำหรับลูกปลาแรกเกิด ได้แก่ ลูกไรแดง อาจใช้อาหารสำเร็จรูปมาคลุกกับน้ำให้นิ่มแล้วขยี้ผ่านกระชอนให้ลูกปลากิน อนุบาลลูกปลาจนโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ อาจย้ายลูกปลาลงอนุบาลต่อในบ่อดิน หรือในกระชังในบ่อดินต่อไป ซึ่งอาหารในช่วงนี้อาจใช้อาหารสำเร็จรูปขนาดเล็กให้ลูกปลากิน ลูกปลาอายุ 1-1.5 เดือน ลูกปลาได้ขนาด 1-1.5 นิ้ว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on