Written by on

ปลาหมูข้างลาย

ชื่อสามัญ ปลงหมูข้างลาย Tiger botia

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลงหมูข้างลาย Syncrossus hymenophysa (Bleeker, 1852)

ลักษณะทั่วไปของปลาหมูลาย

เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ปลางวง เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามดินดาน หรือ ดินทราย ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ ชอบอยู่ตามซอกหรือตามโพรง ลำตัวมีสีสันสวยงดงาม ลำตัวป้อม ด้านข้างแบน จะงอยปากเล็กเรียว ตรงปลายมีหนวดเป็นกระจุก ปากมีขนาดเล็ก ตาเล็ก มีเงี่ยงแหลม ปลายแยกเป็นสองแฉก ครีบหางปลายแยกเป็นแฉกลึก ครีบหลังอยู่กึ่งกลางลำตัว ขนาดของครีบหู ครีบท้อง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีเหลืองแกมเขียวมีริ้วสีน้ำเงินเข้มพลาดขวางลำตัวประมาณ 11 แถบ ครีบหู และครีบก้นเป็นสีเหลือง ขนาดใหญ่ที่พบมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ขนาดที่พบส่วนมากมีขนาด 12-15 เซนติเมตร

การแพร่กระจาย

ปลาหมูข้าลาย พบแพร่กระจายทั้งใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม บึงบอระเพ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในแม่น้ำโขง

การเพาะพันธุ์ปลาหมูข้างลาย

ปลาหมูข้างลายพบว่ามีฤดูว่างไข่อยู่ในเดือน มิถุนายน-กันยายน ลักษณะเพศที่เห็นชัดเจนได้ในฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ คือ เพศเมียท้องอูมเป่ง ช่องเพศมีสีชมพูเรื่อ ส่วนเพศผู้เมื่อใช้มือรีดที่บริเวณช่วงท้องใกล้ทางออกน้ำเชื้อ พบว่ามีน้ำเชื้อไหลออกมา การเพาะโดยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ในอัตรา 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ในปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถกระตุ้นให้แม่ปลาว่างไข่ได้ภายใน 6 ชั่วโมง ไข่มีสีเทาอมเขียว ลักษณะครึ่งลอยครึ่งจม ไข่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 28 องศาเซลเซียส

การอนุบาล

เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงอาหารยุบจึงเริ่มให้ไข่ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำสาดให้กินวันละ 5 ครั้ง ถ้าสามารถเพาะโรติเฟอร์ใช้ได้ก็ควรอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์ เพราะในระยะแรกลูกปลายังมีระบบการย่อยอาหารที่ยังไม่สมบรูณ์ จึงจำเป็นต้องใช้อาหารมีชีวิตช่วยในการอนุบาล เพื่อที่ลูกปลาจะได้มีอัตราการรอดตายที่สูงขึ้น การเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน เมื่ออนุบาลจนลูกปลามีอายุ 10 วัน จึงเริ่มให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารวันละ 3 ครั้ง โดยใช้แก้วใสตักน้ำในมุ้งอนุบาลตรวจความหนาแน่นของไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของลูกปลา

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาหมูขาว

ชื่อสามัญ ปลาหมูขาว Sun loach

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหมูขาว Yasuhikotakia eos (Taki, 1972)

ลักษณะทั่วไปปลาหมูขาว

ปลาหมูขาวพบได้ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำใน ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลำตัวแบนข้างเล็กน้อย และค่อนข้างป้อมกว่าปลาหมูชนิดอื่น ๆ ความยาวลำตัวจากปลายจนถึงครีบโคนหางเป็น 2.5-2.9 เท่าของความกว้างลำตัว ลำตัวเป็นสีเทา หรือเทาอมเขียวบริเวณด้านหลังสีเข้มกว่าด้านข้างลำตัว ท้องสีเหลืองอ่อนหรือขาว บริเวณโคนหางมีจุดสีดำ สำหรับปลาวัยอ่อนที่ยังโตไม่เต็มที่มีแถบสีดำเล็ก ๆ จะงอยปากค่อนข้างยาว ปลายจะงอยปากมีหนวด 2 คู่ และมุมปากมีหนวดอีก 1 คู่ ปากอยู่ปลายสุด และอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหัวมีหนามแหลมปลายแยกเป็น 2 แฉก ขนาดใหญ่ และแข็งแรง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเหลืองจนถึงสีเหลืองจาง ๆ ครีบหลังมีจำนวนก้านครีบ 9 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 8 อัน ครีบอกมีก้านครีบ 7-9 อัน ปลาหมูขาวเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาหมูที่พบในประเทศไทย ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือขนาด 23.5 เซนติเมตร แต่ที่พบทั่วไปมีขนาดเฉลี่ย 10-25 เซนติเมตร ในธรรมชาติอาหารของปลาหมูขาว ได้แก่ ตัวอ่อนแมลงน้ำ หนอนและซากสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ

การเก็บรวมรวบพันธุ์ปลาธรรมชาติ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตรเก็บรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาหมูขาวจากชาวประมงในแม่น้ำน่านบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร แล้วนำมาแยกเลี้ยง 2 วิธี คือ

  1. ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 50 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว
  2. ในกระชังเนื้ออวนช่องตา 1 เซนติเมตร ขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว ให้ปลาสับเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง ตอนบ่าย เลี้ยงไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อใช้ในการผสมเทียม

การเพาะพันธุ์ปลาหมูขาว ฤดูการผสมพันธุ์ของปลาหมูขาวตามธรรมชาติอยู่ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนประมาณเดือนมีนาคม - กันยายน คัดเลือกแม่พันธุ์ปลาหมูขาวที่สมบูรณ์ที่สุดโดยสังเกตลักษณะของท้องอูมเป่ง และช่องเพศเกิดสีชมพูเรื่อ ๆ ส่วนปลาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า และลำตัวเพรียวกว่า บีบที่ช่องเปิดเบา ๆ มีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา การทดลองผสมเทียมได้ทดลอง 3 ครั้ง โดยใช้แม่ปลาจำนวน 4 ตัว ใช้ต่อมใต้สมองปลาไนฉีดครั้งเดียวในจำนวน 1.5 เท่า ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพศเมีย ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง นำปลามารีดไข่ผสมน้ำเชื้อ ไข่มีลักษณะกลมสีเทาอมเขียวใกล้เคียงลักษณะไข่ปลาตะเพียน ไข่เป็นประเภทครึ่งลอยครึ่งจม ความดกของไข่จากการผ่าแม่ปลาหมูขาว ขนาด 130 กรัม ยาว 19.5 เซนติเมตร รังไข่หนัก 15 กรัม มีไข่อยู่ประมาณ 60,000 - 80,000 ฟอง ไข่ปลาหมูขาวใช้เวลาฟัก 12 ถึง 18 ชั่วโมง ในตู้กระจกที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเป็นด่าง 8.6 ( น้ำบาดาล )

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาหมูขาวที่ฟักออกเป็นตัวแล้ว มาอนุบาลต่อในมุ้งโอล่อน ขนาด 1 x 1 ตารางเมตร ซึ่งแขวนไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 x 5 ตารางเมตร ในโรงเพาะฟักเมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงอาหารยุบจึงเริ่มให้ไข่ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำสาดให้กินวันละ 5 ครั้ง ถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน ตอนเช้าของวันที่ 7 จึงเริ่มให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารวันละ 3 ครั้ง โดยใช้แก้วใสตักน้ำในมุ้งอนุบาลตรวจความหนาแน่นของไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของลูกปลา ลักษณะของลูกปลาหมูขาวขนาดเล็กแตกต่างกับปลาชนิดอื่น คือ ด้านหลังโค้งลาด เช่นพ่อแม่พันธุ์ และบริเวณลำตัวมีสีดำทอดไปตามความยาวของตัวปลา เมื่ออายุได้ 20 วัน พบแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 7-8 แถบ และสีลำตัวออกสีเหลืองอ่อน ๆ ลูกปลามีลักษณะเหมือนพ่อแม่พันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ 45-60 วัน และสีดำที่พาดขวางลำตัวหายไปเมื่อลูกปลาโตขึ้น หรืออายุได้ประมาณ 5 เดือน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากระดี่นาง

ชื่อสามัญ ปลากระดี่นาง Moonlight gourami

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากระดี่นาง Trichogaster microlepis (Günther, 1861)

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่นาง

ปลากระดี่นางเป็นปลาน้ำจืดซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับปลาสลิด กระดี่หม้อ กระดี่มุก และอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาหมอไทย กระดี่นางมีสีขาวนวล ไม่มีจุดดำ ลำตัวบาง เกล็ดบาง เกล็ดเล็กละเอียด ขอบเกล็ดเป็นจักรเช่นเดียวกับเกล็ดปลาหมอ มีเส้นก้านครีบเป็นรยางค์ยาวอยู่ใต้ท้อง 1 คู่ ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลากระดี่นางมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ เช่นเดียวกัน ในสภาพที่น้ำไม่ดีนัก กระดี่นางก็จะโผล่ริมฝีปากขึ้นมาฮุบเอาอากาศหายใจได้ อาหารเป็นพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนของแมลง ไรแดง ปลาเพศผู้มีสีแสดบริเวณท้อง กล่าวกันว่า ปลากระดี่ใช้รยางค์คู่นี้เป็นเครื่องรับความรู้สึก มีนิสัยสงบ เลี้ยงรวมกับปลาอื่นได้ดี แต่ในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้มีนิสัยกีดกันปลาอื่น ปลากระดี่ขนาดลำตัวโตกว่ากระดี่หม้อเล็กน้อย ชาวต่างประเทศเรียกว่า "มูนบีน หรือมูนไลท์" ซึ่งตรงกับคำว่าปลากระดี่แสงจันทร์

การแพร่กระจาย

ปลากระดี่นางมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ และมีถิ่นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับปลากระดี่หม้อ คือ พบตามแหล่งน้ำหนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในทุกภาคของประเทศ ต่างประเทศ มีในแถบอินโดจีน

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง

ในฤดูผสมพันธุ์ ปลากระดี่นางเพศผู้นอกจากสังเกตจากครีบหลังเช่นกระดี่หม้อแล้ว ขอบครีบก้นของปลาตัวผู้ขึ้นสีเป็นสีส้ม การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง สามารถทำการเพาะโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ หรือ การเพาะแบบวิธีกึ่งธรรมชาติ การเพาะโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติโดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความพร้อม โดยปลาเพศเมีย ควรมีช่วงท้องขยายใหญ่ขึ้น และนิ่ม ในเพศผู้สังเกตสีของขอบครีบก้นของปลาตัวผู้จะขึ้นสีเป็นสีส้ม นำมาปล่อยในบ่อเพาะไว้รวมกันใส่พรรณไม้น้ำประมาณ 1 ใน 4 บ่อ ทำการถ่ายน้ำทุก 2-3 วัน หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน ตัวผู้เริ่มก่อหวด ส่วนการเพาะด้วยวิธีกึ่งธรรมชาติ โดยการฉีดฮอร์โมนให้กับแม่ และปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองแบบธรรมชาติ อัตราความเข้มข้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ในการฉีดครั้งที่ 1 ฉีดแม่ในความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งระยะห่าง 6 ชั่วโมง ทำการฉีดฮอร์โมนในครั้งที่ 2 ในอัตราความเข้มข้น 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อเพาะ ที่มีพรรณไม้น้ำอยู่ด้วย พบว่าแม่ปลาสามารถวางไข่ได้ หลังจากการฉีดครั้งที่ 2 ประมาณ 45-50 ชั่วโมง ไข่ปลาใช้เวลาในการฟักประมาณ 18 ชั่วโมง ซึ่งการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนควรใช้โรติเฟอร์ และไข่แดงต้มสุกบดละเอียดให้กินเป็นอาหาร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลาจูบ (ปลาหมอตาล)

ชื่อสามัญ ปลาจูบ(ปลาหมอตาล) Kissing gourami, Temminck's kissing

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาจูบ(ปลาหมอตาล) Helostoma temminkii Cuvier, 1829

ลักษณะทั่วไปของปลาจูบ

ปลาหมอจูบ (ปลาหมอตาล) เป็นปลาไทยพันธุ์แท้ที่ปัจจุบันใกล้ที่จะสูญพันธุ์ เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็ก ยืดหดได้ ริมฝีปากหนา นัยน์ตาอยู่ระดับเดียวกับมุมปาก เกล็ดขนาดปานกลาง ปกคลุมหัว และลำตัว ครีบหลัง และครีบก้นยาว ส่วนที่เป็นครีบอ่อนมีขนาดใกล้เคียงกับครีบหาง ครีบอกยาว ปลายมน ครีบท้องมีปลายเรียวแหลม พื้นลำตัวเป็นสีเขียวปนเทา หลังมีสีเทาปนดำ ท้องขาว ข้างตัวมีลายดำพาดตามยาว กินอาหารพวกแพลงก์ตอนพืช และสัตว์ และแมลงต่าง ๆ โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่เลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วยเช่นกัน และเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อกินอาหารจะยื่นริมฝีปากออกมาคล้ายกับการจูบของคน นอกจากการกินอาหารแล้ว ปลาชนิดนี้มักเข้ามาใกล้กัน และเอาปากยื่นออกมาชนกัน (ในกรณีที่เลี้ยงตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป) บ่อยครั้งเหมือนกับการจูบกัน คนจึงเรียกชื่อตามพฤติกรรมนี้ว่าปลาจูบ

การแพร่กระจาย ปลาจูบ(ปลาหมอตาล)

มีถิ่นกำเนิดจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด ภาคใต้ พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากัด

ชื่อสามัญ ปลากัด Siamese fighting fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากัด Betta splendens Regan, 1910

ลักษณะทั่วไปของปลากัด

ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่นและเพื่อเกมส์กีฬากัดปลา ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยง และเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มหัดเลี้ยงปลา เนื่องจากไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เพราะปลากัดเป็นปลามีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษเรียกว่า "labyrinth" ทำให้สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้ ปลากัดมีอายุเฉลี่ย 2 ปี หรือน้อยกว่า

ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว ครีบ และหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบ และหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะ และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ได้ปลากัดมีสีสวยงามหลากหลาย อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก จากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้อีกหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น

ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเรียกกันว่า "กัดป่าหรือกัดทุ่ง" โดยมีลำตัวค่อนข้างเล็ก บอบบาง สีน้ำตาลขุ่นหรือเทาเขียว มีการนำมาเพาะเลี้ยง และคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่มีรูปร่างแข็งแรงลำตัวหนา และใหญ่ขึ้น เพื่อใช้ในการกีฬากัดปลาซึ่งนิยมเรียกปลากัดชนิดนี้ว่า "กัดเก่ง" นอกจากนั้นปลากัดไทยนี้ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้มีสีสันสวยสด มีผู้เลี้ยงปลากัดหลายรายได้มีการพัฒนาปลากัดที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ และผสมข้ามพันธุ์ปลากัด โดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย นิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่า ปลากัดจีนหรือเป็นปลากัดเขมร ซึ่งต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม "Siamese fighting fish"

ในปัจจุบันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ ปลากัดไทยมีสีสรรสวยงามมากตั้งแต่ สีเหลืองทั้งลำตัว สีฟ้า half moon มีเรื่องอ้างอิงกันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ โดยมีความเชื่อว่า ปลาที่มีสีสันสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมียไปยังลูกปลา ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลายโดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสันตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาตัวเมียในระหว่างการทำการเทียบคู่นั้นวิธีการนี้เรียกว่า "pseudo breeding technique" ถึงแม้ว่าไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการแต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า ในคอกหนึ่งๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นมีประมาณ 1 - 2 ตัว ที่มีลักษณะเหมือนกับภาพ

สีสันของปลากัดสามารถจำแนกเพื่อที่จะใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ ได้ดังนี้

  1. สีเดียว (solid colored betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
  2. สีผสม (bi-colored betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
  3. สีผสมเขมร (cambodia colored betta)
  4. ลายผีเสื้อ (butterfly colored betta)
  5. ลายผีเสื้อเขมร (cambodian butterfly colored betta)
  6. ลายหินอ่อน (marble colored betta)

รูปแบบของปลากัดไทยมีการแบ่งออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าเมื่อมองจากด้านบน รูปร่างเพรียว
  2. รูปแบบปลาหมอ ลำตัวสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
  3. รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปสีเหลี่ยม เมื่อมองด้านบนเห็นลักษณะรูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบหางยาว
  4. รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม

การแพร่กระจาย

การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปในน้ำนิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง นอกจากนั้นพบในนาข้าว โดยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด

เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวชอบต่อสู้เมื่อมีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัว ก่อนที่มีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงปลากัด ได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบบบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศ สังเกตได้ว่าปลาเพศผู้มีลำตัวสีเข้ม และครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจน และขนาดมักโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียมีสีซีดจาง มีลายพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้

น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 ความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรใส่น้ำปริมาณ 3ใน4 ของปริมาตรขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสผิวน้ำ นอกจากนั้นสถานที่ใช้เลี้ยงปลากัดไม่ควรเป็นที่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะทำให้ปลากัดตายได้ในกรณีที่โดนความร้อนมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส

อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินอาหารมีชีวิต เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (artemia) อาหารที่มีชีวิตที่ใช้เลี้ยงควรล้างด้วยน้ำสะอาด ฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารในด่างทับทิมระดับความเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน ( 0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที หลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

อาหารของปลากัดนอกจากใช้อาหารมีชีวิตแล้ว ยังสามารถฝึกหัดให้ปลากัดกินอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย โดยค่อย ๆ ฝึกเปลี่ยนนิสัยในการกินอาหาร การให้อาหารควรให้วันละ 1-2 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดี การให้อาหารที่มากเกินไป อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องน้ำให้มาก ข้อสังเกตการกินอาหาร โดยปกติปลากัดกินอาหารประมาณ 5 นาที ในกรณีที่แยกขวดเลี้ยงปลากัดขวดละตัว การให้อาหารนิยมใช้ลูกยางสีแดงที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปดูดอาหาร และใส่ที่ละขวด ซึ่งทำให้สะดวกยิ่งขึ้น การถ่ายเทน้ำควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

การเพาะพันธุ์ปลากัด

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ปลากัดอยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม - กันยายน แต่ในปัจจุบันสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 26-28 ๐C ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป ปลาเพศผู้ที่มีอายุ 5-6 เดือน ในขณะที่ปลาเพศเมียเป็นปลาที่มีอายุ 4 เดือน ปลากัดเพศเมียสามารถวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สังเกตเห็นความสมบูรณ์ของพ่อแม่ปลาได้ชัดเจน การคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ ควรมีหลักปฏิบัติดังนี้

ปลาเพศผู้ ควรคัดเลือกปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวยตามที่ต้องการ ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า "หวอด" โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปาก และลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่า ปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่ผสมพันธุ์

ปลาเพศเมีย โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก มีสีเทา และมีลายตามแนวราบ มีครีบสั้น ควรคัดเลือกแม่ปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่ง และบริเวณใต้ท้องมีสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจนแสดงว่าพร้อมที่ผสมพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งตุ่มสีขาวนั้นเรียกกันว่า
"ไข่นำ"

การผสมพันธุ์ การผสมพันธ์ปลากัดทำโดยการนำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียมาวางติดกัน ซึ่งเรียกว่า "เทียบคู่" บริเวณที่มีการเทียบคู่ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้แม่ปลาตกใจ การเทียบคู่ใช้เวลาประมาณ 3-10 วัน สังเกตปลาตัวเมียมีลักษณะท้องโต และมีจุดขาวที่ท่อนำไข่ชัดเจน ลำตัวมีสีลายอ่อน สลับเข้ม เรียกว่าลายชะโด ซึ่งแสดงว่าปลากัดตัวเมียพร้อมที่ผสมพันธุ์แล้วขณะเดียวกันตัวผู้สร้างหวอดขึ้นบริเวณเหนือน้ำ จากนั้นนำปลาเพศผู้ และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว จนถึงอ่างดิน ใส่น้ำให้มีระดับ 5-10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ปลาเพศผู้เหนื่อยมากเกินไปในขณะที่ลำเลียงไข่ของตัวเมียไปไว้ที่รัง ควรใส่พรรณไม้น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิม เพื่เป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไข่ พรรณไม้ที่นิยมใช้ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชะวา เป็นต้น เมื่อปลาเพศผู้และเพศเมียสามารถปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมในภาชนะประมาณ 1-2 วัน ปลาเพศผู้จึงเริ่มก่อหวอดติดกับพรรณไม้น้ำ หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้พองตัวกางครีบและไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้ทำการรัดตัวเมียตรงบริเวณช่องอวัยวะเพศ จากนั้นไข่ก็หลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้ตามลงไปใช้ปากดูดอมไข่ไว้ แล้วว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าไข่หมด เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้ทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก ขั้นตอนนี้ต้องระวังการกระแทกเพราะทำให้รังไข่ได้รับความเสียหาย

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลากัดฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกมีถุงอาหาร (yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรก จึงยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมด ควรให้ไข่แดงต้มสุกกรองผ่านกระชอนตาถี่เป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (moina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงตัวเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ ประมาณ 5 สัปดาห์ ลูกปลาบางตัวเห็นสี ช่วงนี้อาจเร่งการเจริญเติบโตโดยการเพิ่มอาหารทีละน้อยโดยให้ 3-4 ครั้งต่อวัน ช่วงนี้ลูกปลากินอาหารได้หลายชนิด เช่น หนอนแดง อาหารแผ่นบาง เคยบด ตับไก่สดแช่แข็งหั่นเป็นชิ้นเสียบไม้ใส่ไว้ในบ่อ ปลามาตอดกินได้อีกทั้งยังเป็นการช่วยเร่งสีเนื่องจากมีธาตุเหล็กให้แก่ปลาอีกด้วย และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้ เมื่อปลามีอายุประมาณ 1.5 เดือนขึ้นไป

เนื่องจากการเลี้ยงปลากัดเป็นการเลี้ยงที่นิยมกันมานานมาก การดูแลรักษาปลา จึงเป็นแบบพื้นบ้านส่วนใหญ่ มีการหมักปลาโดยใช้ใบหูกวางแห้ง ใบมะพร้าวแห้ง หรือใบตองแห้ง เพื่อใช้ในการรักษาเมื่อเห็นว่าปลาเริ่มแสดงอาการผิด มีเกษตรกรบางรายไม่เคยประสบปัญหาโรคเลย ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง เพราะใส่ใบไม้เหล่านี้ที่พื้นดินก้นบ่อด้วย ในบางครั้งพบว่าตัวมีจุดสีขาวที่รู้จักกันว่าเป็นโรคจุดขาวหรืออิ๊ค ก็ใส่ข่าหมักลงไปในขวดปลานั้น โรคดังกล่าวก็หายไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากระดี่มุก

ชื่อสามัญ ปลากระดี่มุก Pearl gourami

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากระดี่มุก Trichogaster leerii (Bleeker, 1852)

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่มุก

ปลาในชนิดนี้มีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ เรียกว่า labyrinth organ เหมือนกับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ มีขนาดลำตัวเล็ก คือ ประมาณ 12.5 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้าง หัวเล็ก นัยน์ตาโต ปากอยู่หน้าสุด ริมฝีปากยืดหดได้ มีฟันบนกระดูกเพดานปาก เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ ครีบหลังมีก้านครีบแขนงไม่เกิน 10 ก้าน ครีบหลัง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกบางใส ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว อันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายครีบตัดตรง บนลำตัวมีแถบน้ำเงินอ่อนหรือแถบเขียวสลับแดงอมน้ำตาล แถบสีเหล่านี้กระจายไปตามครีบต่าง ๆ ในปลาเพศผู้มีสีสันสดสวยกว่าตัวเมีย เกล็ดบริเวณลำตัวมันวาว สวยงาม กินอาหารประเภทตัวอ่อนแมลง และอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก

การแพร่กระจาย

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย และมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ หนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ฉีดปลาเพศเมีย ครั้งที่ 1 ในอัตราความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง จึงฉีดครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปลาเพศผู้ฉีดครั้งเดียวพร้อมเพศเมียครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม่ปลาสามารถวางไข่ภายในระยะเวลาประมาณ 45-48 ชั่วโมง หลังฉีดครั้งที่ 2 ครั้ง ลักษณะไข่ปลาเป็นแบบไข่ลอย เม็ดกลมสีเหลืองทอง ไข่ฟักเป็นตัวอยู่ในระหว่าง 15-16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 26-27 องศาเซลเซียส มีอัตราการฟักเท่ากับ 40-50 เปอร์เซ็นต์ อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนด้วยโรติเฟอร์และไข่แดงบดละเอียด

การเพาะแบบวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำปลากระดี่มุกเพศผู้ และเพศเมียที่มีท้องใหญ่ใส่อ่างเพาะพันธุ์ ใส่ผักบุ้งเพื่อให้หวอดเกาะ และเด็ดใบผักบุ้งเพื่อให้เน่าสลาย ช่วยในการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ได้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อแม่ปลาวางไข่แล้วสังเกตว่าแม่ปลาท้องแฟบลงให้นำแม่ปลาออกจากอ่างเพาะ เพื่อป้องกันแม่ปลากินไข่ปลา และปล่อยพ่อปลาดูแลโดยพ่นไข่ติดกับหวอดคล้าย ๆ กับหวอดปลากัดนั่นเองพอลูกปลากระดี่มุกที่เกิดใหม่ในระยะ 2 วัน ยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากนั้นควรให้อาหารมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โรติเฟอร์ และลูกไรแดงกินเป็นอาหาร ถ้าไม่มีสามารถใช้ไข่แดงต้มสุกบด หลังจากให้ไข่แดงบดละเอียดไปแล้ว 3-4 วัน จึงเปลี่ยนไปให้อาร์ทีเมียประมาณ 1 สัปดาห์ สังเกตเห็นได้ว่าลูกปลามีการเจริญเติบโตได้เร็วกว่าในช่วงแรก การเปลี่ยนถ่ายน้ำสามารถเปลี่ยนถ่ยน้ำได้เมื่อลูกปลามีอายุ 12 วัน จึงเปลี่ยนให้ไรแดงที่มีชีวิต การหมักน้ำแก่ซึ่งช่วยให้ปลากระดี่มุกมีความสวยงามเพิ่มขึ้นทำได้ไม่ยุ่งยาก โดยน้ำที่ใส่อ่างเลี้ยงปลาต้องปิดคลุมไว้ไม่ให้รับแสงแดดโดยตรง สำหรับระยะปิดคลุมประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 15 วัน ซึ่งปิดพื้นที่ด้านบนอ่างประมาณครึ่งอ่าง เพียงไม่กี่วันก็พบว่ามีน้ำแก่เกิดขึ้น

ปัญหาที่พบจากการเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุกไม่ประสบผลสำเร็จ

การให้อาหารลูกปลาในช่วงเกิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอาหารสมทบ เช่น ไข่แดงต้มบดละลายน้ำ ต้องระมัดระวังอย่าให้ปริมาณมาก เพราะทำให้น้ำเน่าเสียได้

โรคจุดขาว เกิดจากเชื้อรา และ โรคเกล็ดพอง ทำให้ตัวปลาผิดปกติ ปลาที่เป็นโรคดังกล่าวนั้น รักษาโดยการใช้ด่างทับทิมใส่น้ำพอออกสีม่วงอ่อนๆ ในภาชนะแล้วนำปลาลงไปแช่ค้างคืนหากไม่หายทำซ้ำอีกครั้ง เมื่อปลาหายป่วยแล้ว นำกลับมาลงตู้ใส่เกลือลงตู้เลี้ยงปลาให้มีรสกร่อย ๆ

ระมัดระวังอย่างให้ลูกปลาถูกน้ำฝน เพราะคุณสมบัติของน้ำเป็นกรด ทำให้ลูกปลาตาย

เทคนิคการทำให้ปลามีสีสวย

ในกรณีที่เลี้ยงให้ปลามีคุณภาพ เพื่อส่งเข้าประกวดต้องเลี้ยงในน้ำแก่ก่อนประกวด 1 เดือน นอกจากหมักน้ำให้แก่แล้ว ต้องหาวัสดุคลุมบังให้ถูกแสงเพียงครึ่งหนึ่ง โดยให้ปลาอยู่ในที่มืด ๆ ไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อย ๆ จะทำให้ปลามีสีสัน และมุกเข้มขึ้น เมื่อใกล้วันประกวดให้ใส่ตัวเมียลงไป เมื่อปลาตัวเมียไล่ตัวผู้เกิดการขับสีผิวให้เข้มขึ้น พฤติกรรมนี้คล้ายคลึงกับปลากัด

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

ปลากดเหลือง

ชื่อสามัญ ปลากดเหลือง Yellow mystus

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากดเหลือง Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840)

ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลาดมีความต้องการมาก และราคาดี เนื่องจากมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปปลาสด และการแปรรูปเป็นปลารมควัน หรือปลาแห้ง ราคาซื้อปลาสด กิโลกรัมละ 30-40 บาท ส่วนปลารมควัน กิโลกรัมละ 80-100 บาท ปลากดเหลืองพบอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับประเทศไทยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา การจับปลากดเหลืองได้โดยการใช้ ข่าย อวนล้อม แห หรือเบ็ดราว พื้นที่จับคือบริเวณใต้เขื่อนเจ้าพระยาที่พื้นท้องน้ำที่เป็นแก่งหินหรือเป็นพื้นแข็ง ซึ่งปริมาณปลากดเหลืองที่จับได้ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยลง สถานีประมงน้ำจืดชัยนาทจึงพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเป็นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากดเหลืองให้แพร่ขยายออกไปสู่เกษตรกรต่อไป

ลักษณะทั่วไปของปลากดเหลือง

ปลากดเหลืองเป็นปลาไม่มีเกล็ด มีรูปร่างเรียวยาวแบบอีลองเกท (elongate) หัวค่อนข้างแบน กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม ปากกว้าง ตำแหน่งของปากตั้งอยู่ต่ำเล็กน้อย (subterminal) ขากรรไกรแข็งแรง มีฟันเป็นแบบคาร์ดิฟอร์ม (cardiform) คือเป็นฟันซี่เล็ก ๆ สั้น ปลายแหลม ซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม จำนวน 15 ซี่ มีหนวด 4 คู่ ความยาวตลอดทั้งตัว (total length) เป็นสามเท่าครึ่งของความยาวส่วนหัว ความยาวมาตรฐานลำตัว (standard length) เป็นสามเท่าครึ่งของความกว้างลำตัว ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดียวอยู่กลางหลัง มีก้านครีบหลังแข็ง 1 ก้าน และก้านครีบอ่อน 7 ก้าน โดยก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยอยู่ทางด้านหลัง ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนด้านหลังของส่วนท้ายของลำตัวตรงข้ามกับครีบก้น ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคม 1 คู่ มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน ครีบหางเว้าลึก แฉกบนยาวกว่าแฉกล่าง ลักษณะกระเพาะลมมีตอนเดียว ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ตอนหน้าป้าน และค่อย ๆ เรียวไปทางตอนท้ายซึ่งค่อนข้างแหลม ส่วนกว้างเท่ากับส่วนยาว ตอนหน้าติดอยู่กับทรานเวิร์สโพรเซสของกระดูกสันหลังข้อต้น ๆ ซึ่งสามารถขยายใหญ่เป็นแผ่นกระดูกอ่อนบาง ๆ ใส ตอนหน้าของกระเพาะลมแตะอยู่กับกระดูกก้านครีบคู่หู ส่วนบนติดกับกระดูกสันหลัง กระเพาะลมของปลาชนิดนี้ไม่มีกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดเสียง ผนังกระเพาะลมค่อนข้างแข็งแรง กรอบโปร่งใสเห็นผนังกั้นที่อยู่ภายในได้ชัดเจนมีท่อนูเมติกเชื่อมระหว่างกระเพาะลมกับกระเพาะอาหาร กระเพาะลมมีหน้าที่ช่วยให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำระดับต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ

รายงานการศึกษากระเพาะอาหารของปลากดเหลืองจำนวน 114 ตัว ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดยาว 18.4 - 45.0 เซนติเมตร พบว่า กระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นถุงตรงยาว ผนังหนามีสีขุ่น เป็นปลาที่มีนิสัยชอบกินเนื้อเป็นอาหาร คือในกระเพาะจะมีปลาอยู่ 66.77% กุ้งน้ำจืด 2.70% เศษพันธุ์ไม้น้ำ 0.36% และก้อนกรวดดินโคลน 10.05% อาหารจำพวกเนื้อปลาที่พบในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กได้แก่ ปลาซิวและปลาข้าวเม่า

การแพร่กระจาย

ปลากดเหลืองพบได้ในประเทศแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย สำหรับประเทศไทย ปลากดเหลืองมีแหล่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และสาขาแม่น้ำบางประกง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำจันทบุรี ตลอดจนถึงบริเวณน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อของปลาชนิดนี้เรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น ปลากด เหลือง ปลากดนา ปลากดขาว ปลากลาง ปลากดฉลอง

การเพาะพันธุ์ปลากดเหลือง

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลากดเหลืองมีฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปลาที่ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ควรมีขนาด 200 กรัมขึ้นไป โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ ปลาเพศเมีย ส่วนท้องขยายใหญ่ ช่องเพศกลมรี สีแดง ปลาเพศผู้ ส่วนตัวยาวเรียว มีติ่งยื่นออกมาเป็นอวัยวะเพศ ลักษณะยาวแหลม

การเพาะพันธุ์ เมื่อคัดพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว นำมาขังแยกเพศผู้และเพศเมียไว้ในกระชัง ฉีดฮอร์โมนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ busereline acetate ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone ในอัตราดังนี้

เพศเมีย (ฉีด 2 ครั้ง) 5 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม และ 20 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

เพศผู้ (ฉีด 1 ครั้ง) 10 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

หลังจากฉีดฮอร์โมนทั้งเพศผู้ และเพศเมีย แล้วนำมาปล่อยรวมกันในบ่อผสมพันธุ์โดยใช้บ่อซีเมนต์ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ที่พื้นบ่อปูด้วยตาข่ายถี่ (100 ช่องต่อ 1 ตารางเซนติเมตร) เพื่อให้ไข่ติดตาข่าย

หลังจากฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 2 ประมาณ 4 ชั่วโมง ปลาเพศผู้รัดตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ แม่ปลา 1 ตัว ปล่อยไข่ออกมา 3-4 ครั้ง ใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว นำตาข่ายปูพื้นที่มีไข่ติดอยู่ไปพักในกระชังไข่อีกครั้งหนึ่ง

การฟักไข่ นำไข่ที่ติดตาข่ายไปฟักในกระขังฟักไข่ ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ลึก 60 เซนติเมตร อุณหภูมิน้ำ 27-28 องศาเซลเซียส ไข่ฟักเป็นตัวในเวลา 22 ชั่วโมง เมื่อไข่ฟักหมดแล้ว รวบรวมลูกปลาวัยอ่อนนำไปอนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาวัยอ่อนอนุบาลในบ่ออนุบาล ซึ่งส่วนมากใช้บ่อคอนกรีต ขนาดตามความต้องการของผลผลิต ในอัตราการปล่อย 20,000-30,000 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะแรกยังไม่ต้องให้อาหาร เมื่อลูกปลาใช้ถุงอาหารสำรองหมดจึงเริ่มให้อาหาร ซึ่งอายุประมาณ 2 วัน อาหารในระยะนี้สามารถให้ไรแดงกินเป็นอาหาร ประมาณวันละ 100-200 กรัมต่อวันต่อลูกปลา 20,000 ตัว โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และเย็น เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 70% วันละครั้ง อนุบาลลูกปลาอายุครบ 7 วัน ลูกปลามีความยาวประมาณ 0.7-0.8 เซนติเมตร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on